พลิกหน้าสารบัญ วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 45.3

พลิกหน้าสารบัญ วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 45.3

 

"พระเวียง" เป็นเมืองสมัยอาณาจักรตามพรลิงค์ที่โยกย้ายมาจากชุมชนท่าเรือ แปงบ้านเมืองใหม่บนหาดทรายแก้วของสันทรายใหม่ ก่อนจะย้ายมาตั้งยังเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน ตัวเมืองตั้งอยู่บนหาดทรายแก้วที่เป็นแนวสันทรายใหม่ ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีคูน้ำล้อมรอบ กำแพงเมืองเป็นกำแพงดิน ด้านทิศตะวันตกของเมืองเป็นที่ราบซึ่งค่อยๆ ลดระดับลาดลงสู่ชายทะเลทางด้านทิศตะวันออก และมีลำคลองหลายสายไหลผ่านสามารถเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลได้

 

ด้วยเป็นพื้นที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดความกว้างยาวราว 600 x 1000 เมตร ล้อมรอบด้วยคูน้ำและกำแพงเมืองที่ทำจากดิน อาณาเขตด้านทิศเหนือจดคลองสวนหลวง ทิศใต้จดคลองคูพาย ทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นทุ่งนาที่ราบ โดยทางทิศตะวันออกมีเส้นทางน้ำคือ คลองป่าเหล้า และคลองสวนหลวงไหลผ่านไปออกทะเลด้านอ่าวไทย อันเป็นเส้นทางที่ใช้ติดต่อกับชุมชนภายนอกได้ โบราณสถานสำคัญภายในตัวเมือง ได้แก่ พระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์ วัดพระเวียง และวัดสวนหลวง ส่วนโบราณสถานนอกเมืองทางทิศเหนือคือ วัดท้าวโคตร วัดพระมหาธาตุ และฐานพระสยม

 

"พลิกหน้าสารบัญ" ประจำฉบับนี้ กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณขอแนะนำบทความบางส่วนใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2562) "พระเวียง : เมืองตามพรลิงค์บนหาดทรายแก้ว" ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์สังคมเมืองนครศรีธรรมราช ดังนี้ค่ะ

 

 

 

"สมัยฟูนันในประเทศไทย"

/ บทบรรณาธิการ โดย ศรีศักร วัลลิโภดม

 

การศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีที่ผ่านมายังอยู่ในกรอบเวลาเพียงสมัยทวารวดี หากพบหลักฐานที่เก่าไปกว่านั้นก็จะถูกปัดไปที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาทำให้พบหลักฐานทางโบราณคดีเพิ่มมากขึ้น พบเมืองหลายเมืองที่มีความเก่าแก่ถึงสมัยฟูนัน เช่น เมืองโบราณอู่ทอง นอกจากนั้นอาจารย์มานิต วัลลิโภดม และอาจารย์ชิน อยู่ดี ยังพบลูกปัดหินรูปสัตว์สองหัว ภาชนะสำริดรูปบุคคลแบบอินเดีย และลูกปัดจำนวนมากซึ่งสามารถกำหนดอายุเก่าไปถึงสมัยสุวรรณภูมิ

 

 

 

"เมืองพระเวียงแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์"

/ วิยะดา ทองมิตร

 

เมืองพระเวียงอยู่ห่างจากเมืองท่าเรือลงมาทางทิศใต้ราว 3.5 กิโลเมตร และอยู่ทางทิศใต้ของเมืองนครศรีธรรมราชราว 700 เมตร ภายในเมืองพระเวียงพบโบราณวัตถุทั้งเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง ซ่ง หยวน เหม็ง เศษภาชนะดินเผาแบบสุโขทัยและญวน โดยรูปแบบภาชนะดินเผาส่วนหนึ่งคล้ายภาชนะดินเผาที่บ้านปะโอ จ.สงขลา และที่วัดเวียง จ.สุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ดี จากที่ตั้ง ขนาดของเมือง และโบราณวัตถุสถานที่พบ สันนิษฐานได้ว่า เมืองพระเวียงน่าจะเป็นเมืองที่ย้ายมาจาก "เมืองท่าเรือ" ชาวเมืองนับถือศาสนาฮินดู ต่อมาเมื่ออยู่ในอำนาจของศรีวิชัยจึงหันมานับถือพุทธศาสนามหายาน และเมื่อศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลง จึงรับพุทธศาสนาหินยานแบบลังกาวงศ์เข้ามาแทนที่ (ภาพ : ภายในอุโบสถวัดท้าวโคตรประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ และบริเวณไม้คอสองปรากฏภาพจิตรกรรมที่เขียนในสมัยรัตนโกสินทร์)
 

 

 

"รัฐตามพรลิงค์"

/ ศรีศักรวัลลิโภดม

 

"รัฐตามพรลิงค์" เป็นรัฐร่วมสมัยกับศรีวิชัยที่ไชยา โดยในยุคแรกจะมีอาณาเขตอยู่บริเวณสันทรายโบราณ กินพื้นที่หลายอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช จนถึงแถบคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา บ้านเมืองในยุคนี้โดยมากเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาฮินดู เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 ถึงพุทธศตวรรษที่ 18 อันเป็นช่วงที่ตามพรลิงค์รับเอาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทลังกาวงศ์เข้ามาปรับใช้ และเติบโตเป็นรัฐตามพรลิงค์บนพื้นที่ที่เรียกว่า “หาดทรายแก้ว” ซึ่งก็คือ “เมืองพระเวียง” และ “เมืองนครศรีธรรมราช” ตามลำดับ (ภาพ : เนินเทวสถานที่บ้านนาขอม)

 


 

"ฮินดูในรัฐตามพรลิงค์"

/ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

 

“ตามพรลิงค์” นับได้ว่าเป็นรัฐฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในคาบสมุทรสยาม ปรากฏตัวขึ้นเมื่อช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 11 ก่อนคลี่คลายมาเป็น “เมืองนครศรีธรรมราช” เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 ทั้งนี้จากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมาทำให้จำแนกหลักฐานในอิทธิพลฮินดูบนพื้นที่นี้ออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มขนอม-สิชล 2.กลุ่มเขาคา คลองท่าน้อย คลองท่าลาด และคลองกลาย 3.กลุ่มเทวสถานที่ท่าศาลา 4.กลุ่มเมืองพระเวียงและคลองท่าเรือ (ภาพ : โบราณสถานตุมปัง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าเป็นเทวสถานมาแต่เดิม)
 

 

 

"จันดี...สถานีข้ามคาบสมุทรสมัยศรีวิชัย และการค้นพบพระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัย"

/ ศราวุธ ศรีทิพย์ ณรัณฐ์ อัครนิธิพิรกุล และบัญชา พงษ์พานิช
 

ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบริเวณลำคลองจันดี สะท้อนผ่านซากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมสำริดรูปพระโพธิสัตว์ไตรโลกยวิชัย เงินตราดอกจันศรีวิชัย เหรียญเงินอาหรับ ตราประทับ ชิ้นส่วนเครื่องประดับทองคำ ลูกปัดแก้วสีต่างๆ ตลอดจนเศษภาชนะเครื่องเคลือบ แก้ว และสำริด ซึ่งมีที่มาจากจีน เวียดนาม อินเดีย เปอร์เซีย และแถบเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นร่องรอยหลักฐานที่แสดงถึงเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรในสมัยศรีวิชัย (ภาพ : ลูกปัดแก้วและลูกปัดหินพบในบริเวณแหล่งโบราณคดีจันดี)


 

 

"สวนหลวงและวังตะวันตก" : สองวัดงามที่ชุบชีวิตคัมภีร์พุทธวงศ์และนิพพานโสตร

/ สุรเชษฐ์ แก้วสกุล และโกมล พันธรังสี

 

นครศรีธรรมราชเป็นที่ตั้งอันมั่นคงของพระพุทธศาสนา ดังเห็นว่ามีการสร้างวัดวาอารามและงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาไว้มากมาย ผู้เขียนพบว่ามี 2 วัดงามที่น่าสนใจ ด้วยมีงานศิลปกรรมที่ซ่อนนัยแห่งคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาไว้ นั่นคือ “วัดสวนหลวง” ที่ตั้งอยู่ในเมืองพระเวียง มีภาพปูนปั้นประดับอุโบสถและจิตรกรรมในหนังสือบุดขาวที่เป็นเรื่องราวจากคัมภีร์พุทธวงศ์ อีกแห่งหนึ่งคือ “วัดวังตะวันตก” ภายในวัดมีจิตรกรรมตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ฝีมือครูอุดร มิตรรัญญา ที่ใช้การลำดับเรื่องราวตามคัมภีร์พระนิพพานโสตร (ภาพ : ภาพจิตรกรรมบนคอสองภายในศาลาวัดวังตะวันตก เป็นภาพแสดงเรื่องราวการอพยพหนีโรคห่าของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช)
 

 

 

“ท่าวัง” ย่านจีนเก่ากลางเมืองนคร

/ อภิญญา นนท์นาท
 

ตลาดท่าวังเป็นย่านการค้าเก่าแก่ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราช โดยมีกลุ่มชาวจีนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคหบดีจีนรุ่นบุกเบิก ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและธุรกิจขนาดใหญ่ในยุคเริ่มแรก และชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งรกรากทำมาหากิน พัฒนาการของย่านการค้าแห่งนี้จึงเป็นภาพสะท้อนถึงบทบาทของลูกหลานชาวจีนที่ร่วมสร้างบ้านสร้างเมืองนครศรีธรรมราชในยุคใหม่ (ภาพ : บริษัท บวรพาณิชย์ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่างๆ เช่น สุรา เบียร์ น้ำมันเครื่องเชลล์ (ที่มา : หนังสือรัตนานุสรณ์ : เรื่องเล่าของแม่ ลูกสาวขุนบวรฯ ที่เมืองนคร) ) 
 

 

 

“นโม” เครื่องรางในวิถีคนคอน

/ เกสรบัว อุบลสรรค์


ชาวนครรู้จัก “หัวนโม” มานาน นอกจากจะปรากฏเป็นเรื่องเล่าในพระนิพพานโสตร บันทึกประวัติศาสตร์ที่อยู่ในรูปวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว “หัวนโม” ยังเป็นเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกพันแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของชาวนคร โดยเชื่อต่อกันมาว่า “หัวนโม” มี “คุณ” ช่วยขับไล่สิ่งไม่ดี ภูตผี อุปสรรค โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ คนสมัยก่อนจึงนิยมทำเครื่องประดับจาก “หัวนโม” แล้วมอบให้ลูกหลานได้ใส่ติดตัว ดังคำกล่าวที่ว่า “นโมเลี้ยงน้อง” คือให้หัวนโมช่วยดูแลลูกหลานให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายและพลังด้านลบที่มองไม่เห็น (ภาพ : แหวนหัวนโม สมบัติของคุณพิมลสิริ อังวิทยาธร)
 

 

 

รอยทาง "คนมอญ" ที่แหล่งเครื่องปั้น "บ้านมะยิง"

/ ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
 

บ้านมะยิง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผามาอย่างยาวนาน ด้วยมีแหล่งวัตถุดิบประเภทดินที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้ด้านการปั้นและการก่อเตาประทุนแบบมอญจากเกาะเกร็ด นนทบุรี ที่ให้ความร้อนสูงและทั่วถึง เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ถือเป็นองค์ความรู้ที่ทันสมัยที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งเครื่องปั้นดินเผาพื้นบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันชาวบ้านมีการรวมกลุ่มและพัฒนารูปแบบการผลิตรวมถึงการประชาสัมพันธ์ตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ทันกับกระแสสังคมสมัยใหม่


 


 

"เมืองนคร...ฤาจะสิ้นฝีมือช่าง"

 / เมธินีย์ ชอุ่มผล

 

งานช่างโลหะของเมืองนครได้รับการยอมรับมานานว่า เป็น “เอกอุในภาคใต้” ทุกวันนี้ตามตรอกซอยของชุมชนใกล้ๆ วัดพระมหาธาตุ นครศรีธรรมราช ยังปรากฏช่างทำเครื่องโลหะทั้งเครื่องเงิน และเครื่องถม ง่วนอยู่กับการขึ้นรูปโลหะ และการทำเครื่องใช้ เครื่องประดับต่างๆ ภายในบริเวณบ้านของตนเอง แต่เมื่อความนิยมในเครื่องโลหะเหล่านี้ลดน้อยลง ส่งผลให้บรรดาร้านค้าขายของที่ระลึกและช่างโลหะต่างก็พยายามปรับตัวด้วยการก้าวเข้าสู่โลกการค้าผ่านระบบออนไลน์ นับเป็นความพยายามในการแสวงหาทางรอดท่ามกลางยุคสมัยที่ผันเปลี่ยน (ภาพ : งานเครื่องถมจากฝีมือช่างถมเมืองนคร จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช)

 

 

 

"พราหมณ์เมืองนคร" ศรัทธาบนความเปลี่ยนแปลง

/สุดารา สุจฉายา

 

นครศรีธรรมราชอาจถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญของศาสนาพราหมณ์ที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรภาคใต้ของไทย ดังพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์จำนวนมาก ทั้งในอดีต เมืองนครยังเคยมีชุมชนพราหมณ์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและบ้านเมืองย่อมส่งผลต่อบทบาทและการสืบเนื่องของพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังคงเห็นความศรัทธาของผู้คนผ่านพิธีกรรมต่างๆ ถึงแม้ว่าพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีจะเปลี่ยนแปลงสถานะแห่งสายเลือดหรือวรรณะไปแล้วก็ตาม

 

(ภาพ : เมื่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จประพาสเยี่ยมราษฎรภาคใต้ครั้งใด บรรดาพราหมณ์ตามหัวเมืองภาคใต้จะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำสืบมาแต่โบราณ ในภาพคือเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จเยือนเมืองพัทลุง ปี พ.ศ. 2471 (ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) )
 

 

 

"พังพการ: วีรบุรุษแห่งตามพรลิงค์ผู้พิชิตศึกชวา"

/ ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา


ตำนานพื้นบ้านว่าด้วยเรื่องราวของ “พังพการ” จากเด็กชายลูกชาวนาผู้มีบุญสู่วีรบุรุษชาวบ้านผู้เป็นแม่ทัพที่ช่วยปลดแอกเมืองนครจากชวา รวมถึงที่มาของชื่อบ้านนามเมือง เช่น "เขามหาชัย” และ “ตำบลไชยมนตรี" สำนวน "ตายกับดาบไม้ปาเข" ของคนใต้ แถมท้ายด้วยการไขตำนานกับข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ปรากฏการณ์บูชาจตุคามรามเทพ ตำนานหลวงปู่ทวด กลยุทธ์โปรยเงินสยบไผ่หนาม ส่วยไข่เป็ด เป็นต้น (ภาพวาดโดย : คุณสกนธ์ แพทยกุล)

 

 

 

"ความทรงจำที่ท่าวัง"

/ กลุ่มอนุรักษ์ภาพเก่าเมืองนคร


ประมวลภาพถ่ายเก่าเพื่อถ่ายทอดความทรงจำย่านชุมชนบนถนนยมราชเชื่อมต่อถนนท่าวัง สะท้อนความรุ่งเรืองในอดีต ส่งต่อความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง เป็นข้างหลังภาพที่บันทึกเรื่องราวชุมชนหลากศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม หลายชาติพันธุ์ทั้งไทยถิ่นใต้ มอญ จีนต่างภาษา ทั้งยังเสมือนบันทึกความเปลี่ยนแปลงในย่าน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ร้านรวง สถานบันเทิง ถนนหนทาง และเหตุการณ์สำคัญของผู้คนในสมัยนั้น (ภาพ : น้ำท่วมใหญ่ในตัวเมืองนครเมื่อปี พ.ศ. 2518 จากภาพคือบริเวณถนนยมราช ด้านหลังมองเห็นโบสถ์วัดศรีทวี หรือวัดท่ามอญ (ที่มา : ศุภชัย แซ่ปุง) )

 

 

 

"ผังเมืองลิกอร์ของเจมส์โลว์ (พ.ศ.2368)

/ ผศ. ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์


แผนผังเมืองนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2368 หรือผังเมืองลิกอร์ ค.ศ. 1825 ผลงานที่ช่างเขียนชาวสยามได้วาดขึ้นตามการว่าจ้างของนายร้อยเอกเจมส์โลว์ นายทหารชาวอังกฤษซึ่งขณะนั้นมาทำงานอยู่ที่เกาะหมาก และได้มาท่องเที่ยวหัวเมืองปักษ์ใต้ของสยาม เป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยยืนยันความยิ่งใหญ่ของเมืองนครศรีธรรมราช หัวเมืองสำคัญของสยามในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ภาพแผนผังนี้ได้รับการอ่านโดยอาจารย์ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราช

 

 

 

"สำรวจเอกสารปฐมภูมิเมืองนครศรีธรรมราช"

/ พระครูเหมเจติยาภิบาล (โสพิทร์อินทโสภิโต)

 

เพื่อการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ให้ถ้วนทั่ว ท่านพระครูเหมเจติยาภิบาลแห่งวัดพระนคร จ.นครศรีธรรมราช จึงได้ทำการสำรวจเอกสารปฐมภูมิของเมืองนครศรีธรรมราชที่มีอยู่ในสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร พบว่า เอกสารปฐมภูมิจำนวนมากที่พบนั้น สามารถจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ 1.เอกสารประเภทตำนาน และพงศาวดาร 2.แผนที่ 3.ภาพ และ 4.โคลงนิราศต่างๆ โดยท่านพระครูได้ทำการคัดสำเนาดิจิตอลและปริวรรต เพื่อให้เป็นประโยชน์กับการสืบค้นของผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองรุ่นหลัง (ภาพ : สมุดไทยขาว เลขที่ ๒๕ ตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช ในภาพแสดงพื้นที่ด้านทิศเหนือของตัวเมืองนครบริเวณคลองท่าวัง)

 

นอกจากบทความเกี่ยวกับนครศรีธรรมราชแล้ว ภายในวารสารเมืองโบราณฉบับที่ 45.3 ยังมีเรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจอีก อาทิ 

 

"วังเจ้าตุ้ม"

/ วราห์ โรจนวิภาต
 

บทความนี้เล่าถึงการเกิด ดับ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเจ้าเรือนและบ้านเรือนผ่านกาลเวลากว่าแปดสิบปีภายในวังของหม่อมเจ้าตุ้ม สนิทวงศ์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ ณ อยุธยา พร้อมเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากวังกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส และบ้านขุนน้ำขุนนางท่านอื่นๆ ซึ่งช่วยฉายภาพริมสองฝั่งคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่จากอดีตสู่ปัจจุบัน (ภาพ : ตราพระขรรค์พันด้วยลายกระหนกซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท (ที่มา : หนังสือตราแผ่นดิน ตราราชสกุล และสกุล อักษรพระนาม และนามย่อ) )

 

 

 


 

สนใจสั่งซื้อวารสารเมืองโบราณ

1. ร้านหนังสือริมขอบฟ้ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. โทร 02 622 3510 / E-mail : rimkhobfabooks@gmail.com / Facebook : RimkhobfaBookstore

2. ฝ่ายสมาชิกสารคดี-เมืองโบราณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด โทร 02 547 2700 ต่อ 111-113 / E-mail : memberskd@gmail.com / Line ID : 0815835040 / Facebook : สารคดี-เมืองโบราณ-นายรอบรู้

 

รายละเอียดการสมัครสมาชิก-ต่ออายุสมาชิก >> www.muangboranjournal.com/สมัครสมาชิก

หรือติดต่อโดยตรงที่ ฝ่ายสมาชิกสารคดี-เมืองโบราณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด

โทร 02 547 2700 ต่อ 111-113

E-mail : memberskd@gmail.com

Line ID : 0815835040

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น