จากท่าเรือกลไฟถึงล้ง 1919
แวดวงเสวนา

จากท่าเรือกลไฟถึงล้ง 1919

 

คลองสาน ฝั่งธนบุรี เป็นแหล่งธุรกิจการค้ามาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่อยู่คนละฟากฝั่งกับย่านไชนาทาวน์ แถบสำเพ็ง ทรงวาด ราชวงศ์ ร่องรอยที่ยังคงปรากฏเด่นชัดคือ ฮวยจุ่งล้ง หรือท่าเรือกลไฟ ที่สร้างขึ้นโดยพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร)  ในปี พ.ศ. 2393  อันเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 3 ซึ่งการเดินทางด้วยเรือสำเภาได้ลดบทบาทลงและก้าวสู่การเดินเรือกลไฟแทน

 

ท่าเรือแห่งนี้ได้นำพาชาวจีนโพ้นทะเลหลายต่อหลายท่านมาก่อร่างสร้างตัวในสยาม จนกระทั่งลดบทบาทลงหลังจากที่นายตัน ลิบ บ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี รับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตรในปี พ.ศ. 2462 และได้ปรับพื้นที่ให้กลายเป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าพร้อมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าของคนงานในพื้นที่ จนกระทั่งถึงวันนี้ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่อาคารสถาปัตยกรรมที่สร้างในรูปแบบท่าเรือมาสู่โครงการ “ล้ง 1919” เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ริมฝั่งเจ้าพระยาแห่งใหม่ โดยมีคุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี เป็นหัวเรือใหญ่ในการชุบชีวิตท่าเรือเก่าแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นทั้งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวและเพื่อเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรมจีน ความเชื่อความศรัทธาและความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนาน

 

 

 

 

วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ทำการเปิดตัวโครงการอย่างยิ่งใหญ่ โดยตอนเช้ามีการทำพิธีเบิกเนตรเจ้าแม่หม่าโจ้วหรือ Mazu ที่ประดิษฐานอยู่คู่ “ฮวยจุ่งล้ง”มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เมื่อมีการบูรณะอาคารและพื้นที่แห่งนี้จึงจำเป็นต้องอัญเชิญเจ้าแม่หม่าโจ้วไปประดิษฐานชั่วคราวยังบ้านหวั่งหลีที่ตั้งอยู่ด้านข้างโครงการ  จนเมื่อมีการบูรณะเสร็จจึงอัญเชิญเจ้าแม่กลับไปประดิษฐานยังศาลเจ้าที่เดิม โดยจัดขบวนแห่เจ้าอย่างสมเกียรติ มีทั้งขบวนมังกรทองขบวนสิงโต ขบวนหลอโกว้ ดนตรีโบราณของจีน ขบวนเอ็งกอที่เป็นวีรชนนักรบ รวมถึงเจ้าแม่หม่าโจ้วทั้ง 3 องค์ประทับเกี้ยวพร้อมเครื่องสักการะและกระถางธูป โดยมีคุณสุจินต์ คุณวุฒิชัย และ คุณธรรมนูญ หวั่งหลีเป็นประธานนำในขบวน

 

 

 

 

 

 

 

ในตอนค่ำ คุณกอบกาญจน์วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เป็นประธานเปิด “ล้ง 1919” อย่างเป็นทางการภายใต้บรรยากาศที่แสดงถึงการผสมผสานของศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนมีการแสดงงิ้วจากคณะ เม้ง ป.ปลา การแสดงบอกเล่าประวัติชาวจีนโพ้นทะเลประกอบเพลง โดยศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียง

 

 

 

 

ปัจจุบัน “ล้ง 1919” ได้เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งภายในพื้นที่นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้งานด้านสถาปัตยกรรมของอาคาร รวมถึงจิตรกรรมที่มีการค้นพบใหม่แล้ว ยังประกอบด้วยแกลเลอรีศิลปะ  ร้านอาหารและร้านกาแฟ ตลอดจนลานกิจกรรมกลางแจ้ง อาคารใหญ่สำหรับอีเวนต์ ไปจนถึง Co- working space

 

 

 


Tags

กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น