สรุปเสวนา "จากคุชราตสู่สยามฯ"
แวดวงเสวนา

สรุปเสวนา "จากคุชราตสู่สยามฯ"

  

 

สรุปเสวนาวิชาการสาธารณะ Fieldwork Story EP.3       

หัวข้อ “จากคุชราตสู่สยาม : บทบาทพ่อค้ามุสลิมดาวุดีโบห์ราจากเอกสารจดหมายเหตุ”

โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิคุณแม่เชย อับดุลราฮิม ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “จากคุชราตสู่สยาม : บทบาทพ่อค้ามุสลิมดาวุดีโบห์ราจากเอกสารจดหมายเหตุ” โดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Fieldwork Story ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 งานนี้ได้พาเราไปรู้จักกับพ่อค้าชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา (Dawoodi Bohra) จากแคว้นคุชราต ประเทศอินเดียที่เข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินสยาม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ทางศาสนา (Ethnoreligious group) ที่มีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมในหน้าประวัติศาสตร์ไทยไม่แพ้กลุ่มอื่นๆ

 

การเสวนาเริ่มต้นด้วยการฉายภาพรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในกรุงเทพมหานคร โดย สุนิติ จุฑามาศ นักวิจัยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ลำดับถัดมาเป็นเรื่องของการสืบค้นบริบททางประวัติศาสตร์และการค้าของชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดียผ่านเอกสารจดหมายเหตุ (หนังสือและวารสารเก่า) โดย อาจารย์สมาน อู่งามสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือเก่ามุสลิมในไทย  และทำความเข้าใจวิถีความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา โดย พ.อ.สิทธิโชค มุกเตียร์ กรรมการมัสยิดเซฟี มัสยิดที่เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา ปิดท้ายด้วยการร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นักวิชาการผู้ดำเนินงานศึกษาค้นคว้าและอนุรักษ์จดหมายเหตุในบ้านอับดุลราฮิม บ้านของตระกูลพ่อค้าชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราคนสำคัญซึ่งเป็นเจ้าของห้างอับดุลราฮิมที่เฟื่องฟูเมื่อครั้งอดีต

 

วงเสวนา "จากคุชราตสู่สยาม : บทบาทพ่อค้ามุสลิมดาวุดีโบห์ราจากเอกสารจดหมายเหตุ"

 

การตั้งถิ่นฐานและความหลากหลายของชาวมุสลิมในบางกอก

โดย สุนิติ จุฑามาศ

 

ชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราคือกลุ่มทางศาสนาอิสลามในแนวทางชีอะฮ์อิสมาอีลียะฮ์ (Ismaili Shi’a)  ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ราว 2 ล้านคนกระจายอยู่ใน 40 ประเทศทั่วโลก มีหลักฐานการเข้ามาประเทศสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่ทำให้คนต่างชาติในบังคับอังกฤษเข้ามาค้าขายกับชาวสยาม ชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศสยาม และเป็นหนึ่งกลุ่มชาติพันธุ์ที่สำคัญ ซึ่งเป็นตัวแทนความหลากหลายของกลุ่มชนในการก่อร่างสร้างบางกอก

 

วิทยากรได้นำเสนอถึงชาวมุสลิมในบางกอก หรือ “คนแขกแห่งเมืองบางกอก” ซึ่งมีหลากหลายกลุ่ม ถูกเรียกโดยชาวสยามจากความต่างของถิ่นที่มา เช่นเรียกชาวมุสลิมมลายูจากปัตตานีว่า “แขกตานี” เรียกชาวมุสลิมจากชวาว่า “แขกยะวา” หรือเรียกตามความแตกต่างของสำนักคิดทางศาสนา เช่น “แขกเจ้าเซ็น” คือการนำเอาพิธีเจ้าเซ็นของมุสลิมนิกายชีอะฮ์มาใช้เรียก คำเรียกว่า “แขก” ถูกใช้เรื่อยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ กระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงได้เปลี่ยนจากการเรียกว่า “แขก” มาเป็น “ชาวไทยอิสลามหรือชาวไทยมุสลิม” ซึ่งเป็นการนำอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาผนวกเข้ากับอัตลักษณ์ทางศาสนา  อย่างไรก็ตามมุสลิมแต่ละกลุ่มก็ยังคงมีสำนึกทางอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตน ไม่ว่าจะเป็น ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ชาวมุสลิมเชื้อสายชวา ชาวมุสลิมเชื้อสายอินเดีย ชาวมุสลิมเชื้อสายปาทาน เป็นต้น

 

นิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”

 

จากการเก็บข้อมูลภาคสนามเรื่องความหลากหลายของชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ พบว่าแต่ละกลุ่มจะมีมัสยิดเป็นศูนย์กลาง ซึ่งคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพฯ ได้แบ่งเขตการจัดการมัสยิดออกเป็น 6 เขต โดยมัสยิดในกรุงเทพฯ ทั้งหมดมีจำนวน 193 แห่ง และยังมีอาคารที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจแต่ยังไม่ได้เป็นมัสยิดอีกจำนวนหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีชาวมุสลิมหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนไม่น้อยกระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ 

 

ในการศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์ของเมืองบางกอกยังสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานและการเคลื่อนย้ายเข้ามายังบางกอกของชาวมุสลิมแต่ละกลุ่มในแต่ละยุคสมัย เช่น ชาวมุสลิมที่มัสยิดต้นสน ปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมกลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี ชาวมุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตพระนครและกระจายตัวไปตามเส้นทางคลองแสนแสบซึ่งถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองมลายูในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่มีการเข้ามาของชาวมุสลิมที่เป็นคนในบังคับอังกฤษจากอินเดีย อาหรับ ชาวมุสลิมที่เป็นคนในบังคับเนเธอร์แลนด์จากหมู่เกาะอินโดนีเซีย หมู่เกาะชวา ซึ่งกระจายตัวไปตามย่านการค้าสำคัญต่างๆ รวมถึงชาวมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ เช่น ปัชตุน เบงกาลี จีน ฯลฯ

 

นิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”

 

สำรวจการค้าของชาวมุสลิมจากหนังสือเก่าและสื่อสิ่งพิมพ์

โดย อาจารย์สมาน อู่งามสิน

 

อาจารย์สมานสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราที่สอดแทรกอยู่ในหนังสือเก่าและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ โดยเริ่มต้นด้วยหนังสือ His Holiness Syedna Taher Saifuddin Saheb, Dai-ul-Mutlaq of Dawoodi Bohra เขียนโดย Abdul Qaiyum Mulla Habibullah ซึ่งเป็นเรื่องราวของ Syedna Taher Saifuddin Saheb ผู้นำของชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา ลำดับที่ 51 ซึ่งมีบทบาททางสังคมต่อชาวมุสลิมทั่วโลก และยังเป็นผู้มีบทบาททางการศึกษาในอินเดีย เป็นการชี้ให้เห็นว่าชนมุสลิมกลุ่มนี้ไม่ได้จำกัดตนเองเฉพาะแต่ในกลุ่ม แต่ยังมีบทบาทต่อสังคมในวงกว้าง  เล่มต่อมาคือหนังสือตัฟซีรฺฮักกุลยะกีน เรื่อง โควิเศษ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2478 ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูพบว่าเป็นหนังสือที่แปลโดยชาวอินเดียมุสลิมนิกายซุนนี แต่เขียนโดยนายทองหยิบ ดวงมณี ชาวสยามมุสลิมนิกายชีอะฮ์ย่านตึกขาว ซึ่งก็คือชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา

 

Foreign Residents in Siam หนังสือพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 150 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เป็นหนังสือที่ข้อมูลส่วนใหญ่เรียบเรียงมาจากบางกอกรีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) โดยหมอบรัดเลย์  เป็นข้อมูลราวปี ค.ศ. 1870 ที่วิทยากรนำมาเสนอให้เห็นถึงรายชื่อพ่อค้าอินเดีย กัปตันเรือ  ซึ่งเป็นตระกูลสำคัญที่มีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน มีการระบุการตั้งบริษัท Siam Company of Mussulman Merchants มีการกล่าวถึงแขกกะเร็งที่ตั้งร้านค้าอยู่ย่านวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร) อีกทั้งยังมีการเอ่ยถึง Mussulman Square (จัตุรัสมุสลิม) ย่านตลาดแขกล้อมรอบตึกขาวหรือมัสยิดเซฟี ซึ่งยืนยันถึงความสำคัญของพ่อค้าชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา และความเจริญในฐานะย่านการค้าบริเวณตึกขาว ในช่วงเวลาก่อนหรือพร้อมๆ กับสำเพ็งซึ่งเป็นย่านการค้าสำคัญของชาวจีน โดยวิทยากรสันนิษฐานว่า Mussulman Square นี้อาจจะเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรืองมาก่อนสำเพ็ง แล้วต่อมาจึงซบเซาลงขณะที่สำเพ็งเจริญเติบโตขึ้น

 

สื่อสิ่งพิมพ์มุสลิมที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”

 

เอกสารชิ้นต่อไปคือวารสารชื่อวิทยุสาร ปี พ.ศ. 2483 ซึ่งลงโฆษณาการค้าวิทยุของห้างอับดุลราฮิมและหนังสือเรื่อง House of Maskati: One Indian Family’s Siamese Textile Legacy ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของตึกแขกหรือห้างมัสกาตีบริษัทนำเข้าผ้าจากอินเดีย ซึ่งก่อตั้งโดย อับดุล ตาเยบ มัสกาตี (Abdul Tyeb Maskati)ห้างร้านนี้เก่าแก่ไปถึงกว่า 166 ปี  ผ้าลายมัสกาตีกระจายไปทั่วเอเชีย และมีบทบาทอยู่ในสังคมสยามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในราชสำนัก หลังจากที่การค้าผ้าซบเซาลง  บริษัทนี้ได้เปลี่ยนไปส่งออกสินค้าชนิดอื่น เช่น ปอกระเจา ไม้ซุง ครั่ง และยังดำเนินธุรกิจมาจนถึงปัจจุบันโดยทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูล ในชื่อกลุ่มบริษัท ATEMS 

 

สื่อสิ่งพิมพ์ที่ระลึกงานกาชาด ปี พ.ศ. 2476 ลงโฆษณาโรงเรียนมหัศดัมอิสลาม โรงเรียนนานาชาติที่ทันสมัยในยุคนั้น สมุดจากโรงพิมพ์ และร้านขายเครื่องเขียนโมฮำมัดของชาวมุสลิมดาวูดีโบห์รา รวมไปถึงหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพบุคคลสำคัญ เช่น หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ นายนัติ นิยมวานิช อดีตผู้อำนวยการบริษัทไนติงเกล-โอลิมปิค จำกัด หรือห้างไนติงเกล-โอลิมปิค ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ถึงปัจจุบัน หนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนายปรีชา ไทยอารี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิเศษ สะท้อนให้เห็นว่านอกจากความเป็นพ่อค้านักธุรกิจแล้ว ยังมีอีกกลุ่มที่ผันตัวเข้ารับราชการ และอีกบทบาทสำคัญของกลุ่มพ่อค้าชาวมุสลิมดาวูดีโบห์ราในไทยคือความร่วมมือในการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศอินเดีย โดยมีหลักฐานจากรูปที่ถ่ายร่วมกันระหว่างรพินทรนาถ ฐากุรกับพ่อค้าจากอินเดียซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ในสยามช่วงเวลานั้น

 

สื่อสิ่งพิมพ์มุสลิมที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”

 

มัสยิดเซฟี (Saifee Masjid) กรุงเทพฯ

โดย พ.อ.สิทธิโชค มุกเตียร์ กรรมการมัสยิดเซฟี

 

พ.อ.สิทธิโชค มุกเตียร์ เริ่มต้นด้วยการนำเสนอภาพถ่ายเก่ามัสยิดเซฟีซึ่งถ่ายจากท่าน้ำจักรวรรดิ ซึ่งอาคารส่วนใหญ่ในภาพนั้นไม่มีแล้วในปัจจุบัน เช่น อาคารโกดังเก่าซึ่งมีเอกลักษณ์ของชาวมุสลิม โรงเกลือ คงเหลือแต่อาคารมัสยิด จากนั้นวิทยากรได้ให้ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับมุสลิมดาวุดีโบห์ราว่า ส่วนมากจะอาศัยอยู่ในรัฐ “คุชราต” (Gujarat) ประเทศอินเดียตามเมืองต่างๆ ที่สำคัญ สำหรับกลุ่มที่มาอยู่เมืองไทยเช่นจากเมือง Surat, Bharuch, Rajkot, Dhoraji ดาวุดีโบห์ราเป็นนิกายหนึ่งในมุสลิมชีอะฮ์ ซึ่งมีผู้นำสูงสุดคือ Aqa Maula สืบต่อมาจากท่านนบีมุฮัมมัด ผ่านทางบุตรสาวท่านคือพระนางฟาฏีมะฮ์ จนถึงปัจจุบันผู้นำสูงสุดลำดับที่ 53 คือ ท่านไซยิดนา มุฬฏฏอล ไซฟุดดีน (Syedna Mufaddal Saifuddin) พำนักอยู่ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งวิทยากรเพิ่งมีโอกาสได้ไปสลามท่านเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

Aqa Maula จะส่งตัวแทนซึ่งเรียกว่า อามีลซาเฮบ (Amil Saheb) ไปยังทุกๆ ชุมชนที่มีดาวุดีโบห์ราอยู่ทั่วโลก 40 ประเทศ อามีลซาเฮบจะทำหน้าที่ผู้นำศาสนาของแต่ละมัสยิดในชุมชน ชุมชนละ 1 ท่าน และประจำอยู่แห่งละ 3 ปี ก่อนจะหมุนเวียนสับเปลี่ยนไปที่อื่นซึ่งเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม  อามีลซาเฮบจะเรียนจบจากสถาบันซึ่งเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัย โดยต้องเรียนทั้งความรู้ทางศาสนา และศาสตร์อื่นๆ อาทิ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และอีกหนึ่งความรู้สำคัญคือความรู้ด้านไอที (Information Technology) เทคโนโลยีสารสนเทศ

 

ชุมชนดาวุดีโบห์ราในประเทศไทยเป็นชุมชนขนาดเล็ก มีสัตบุรุษที่เข้าร่วมในพิธีสำคัญๆ ของมัสยิดเซฟีจำนวนไม่เกิน 200 คน แต่คงไว้ซึ่งศรัทธา และยังรักษาอัตลักษณ์สำคัญของกลุ่มตน เช่น การแต่งกาย วัฒนธรรมประเพณี อาหาร รูปแบบศาสนสถาน ซึ่งมาจากแบบแผนเดียวกันกับชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราซึ่งกระจายกันอยู่ทั่วโลก

 

สถาปัตยกรรมมัสยิดเซฟีที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค (Gothic architecture)  ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมของชาวยุโรปนั้น วิทยากรให้ความเห็นว่าที่จริงแล้วชนชาวดาวุดีโบห์ราเองมีสถาปัตยกรรมของตนที่เรียกว่า สถาปัตยกรรมฟาฏิมียะฮ์ ซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในศตวรรษที่ 9-11 ในอียิปต์ ประเด็นนี้คุณสุนิติช่วยเสริมว่าสถาปัตยกรรมดังกล่าวมีที่มาจากราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ (Fatimids) ที่เคยปกครองอียิปต์ในช่วงเวลานั้น นับเป็นอาณาจักรใหญ่ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นต้นทาง เป็นที่มาของมุสลิมดาวุดีโบห์ราทั้งหมด อัตลักษณ์การแต่งกายของชนชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราจะมีแบบแผนเหมือนกันทั่วโลก คือผู้ชายสวมชุดกูรตะ (Kurta) คลุมยาวสีขาว และสวมหมวกซึ่งมีทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ส่วนผู้หญิงจะสวมชุดริดา (Rida) เป็นชุดคลุมปกปิดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า  ซึ่งคุณสุนิติเสริมว่าในอดีตจะถูกเรียกว่า “แขกสะระบั่นทอง”

 

วิทยากรเล่าว่า “เมื่อครั้งประเทศไทยยังถูกเรียกว่าสยามนั้น ชาวดาวุดีโบห์ราได้เดินทางจากอินเดียมายังประเทศไทยเพื่อมองหาช่องทางการค้า และเริ่มประกอบกิจการค้าโดยตั้งห้างร้านอยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือฝั่งพระนคร บริเวณท่าน้ำราชวงศ์ ถนนทรงวาด และย่านพาหุรัด บ้านหม้อ ส่วนอาคารเก็บสินค้าจะตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก คือฝั่งธนบุรี เพื่อสะดวกในการเก็บและลำเลียงสินค้า ปัจจุบันยังเห็นร่องรอยอาคารโกดังสินค้าซึ่งเจ้าของคือพ่อค้าดาวุดีโบห์รา ตัวอย่างพ่อค้าดังกล่าว เช่น เจ้าของห้างมัสกาตี ผ้าลายจากห้างมัสกาตียังเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบชั้นยศของข้าราชสำนักด้วย

 

นิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”

 

พ่อค้าอีกท่านที่สำคัญคือ Gagayi Sayaudin ซึ่งจำหน่ายเพชรพลอยและเครื่องประดับต่างๆ โดยทั้งนำเข้าจากอินเดียและตั้งโรงงานขึ้นในประเทศไทย ท่านนี้เป็นผู้รวบรวมเงินทั้งของตนเองกับเพื่อนคือนายห้างวาสี เพื่อนำมาซื้อที่ดินและสร้างมัสยิดเซฟี พ่อค้าคนสำคัญอีกท่านคือ อับดุลราฮิม ชรัฟอาลี มุกเตียร์ เป็นอีกตระกูลหนึ่งซึ่งมีการค้าที่หลากหลาย เครื่องใช้ ภาชนะต่างๆ ที่มีการออกแบบอย่างวิจิตรบรรจง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรับออกแบบเครื่องใช้ให้กับสำนักพระราชวัง กระทั่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้งเป็นร้านหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6

 

สินค้าอีกจำพวกหนึ่งซึ่งพ่อค้ามุสลิมดาวุดีโบห์ราเปิดห้างร้านขายแต่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงคือวัสดุประดับเสื้อผ้า เช่น เลื่อม ดิ้น ไหม ริบบิ้น วัสดุเหล่านี้ยังใช้ประดับเครื่องแบบ เช่น เครื่องหมายทหาร หมวกของเครื่องแบบพยาบาล เครื่องหมายต่างๆ ของข้าราชการ ซึ่งสินค้าเหล่านี้ทำให้ชาวดาวุดีโบห์ราหลายสิบตระกูลร่ำรวยมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาวิทยากรได้เล่าถึงประวัติการสร้างมัสยิดเซฟีว่าเมื่อครั้งที่มีการสร้างมัสยิด ไม่ได้มีการสร้างเพียงอาคารมัสยิดเพียงโดดๆ แต่ด้านหน้าจากมัสยิดไปจนจรดแม่น้ำยังประกอบด้วยอาคารหลายหลัง โดยเฉพาะทางเดินด้านหน้าติดแม่น้ำ มีอาคารคอนกรีตสองชั้นขนาดใหญ่ทั้งสองฝั่ง เพื่อให้มีชุมชนขนาดย่อมๆ อาศัยอยู่รายล้อมมัสยิด รวมทั้งเป็นที่พำนักของท่านอามีลซาเฮบแต่ละท่านที่มาประจำอยู่ที่นี่ด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันอาคารขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ถูกรื้อลงแล้ว ด้วยทั้งกิจการค้าของชาวดาวุดีโบห์ราได้ปิดตัวลงเกือบทั้งหมด และชุมชนได้ย้ายออกไปอาศัยอยู่นอกพื้นที่ ทำให้จำนวนผู้มาประกอบศาสนกิจมีจำนวนน้อยลงมากเมื่อเทียบกับเมื่อหกสิบกว่าปีก่อน

 

นายฮาซันอาลี อับดุลราฮิม และครอบครัว

 

อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม

โดย รศ.ดร. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ และคณะ

 

วิทยากรเริ่มต้นด้วยการกล่าวขอบคุณคณะกรรมการจากมูลนิธิคุณแม่เชย อับดุลราฮิม และมูลนิธิเอช.อับดุลราฮิม ที่เปิดโอกาสให้ได้เข้ามาร่วมทำวิจัยในโครงการอับดุลราฮิมศึกษา ปี พ.ศ. 2563-2565 และกล่าวถึงการดำเนินงานอนุรักษ์บ้านอับดุลราฮิม ย่านศาลาแดง  ซึ่งได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยเจ้าของได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งพระองค์ท่านได้ส่งมอบให้กับสภากาชาดไทยในการรับผิดชอบดูแลต่อไป

 

ผลจากการดำเนินงานนอกจากจะนำไปสู่การผลิตหนังสือ “อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม” แล้ว ทางโครงการยังได้รวบรวมเอกสารลายลักษณ์ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ ทั้งหนังสือเก่า วารสารโบราณ จำนวนกว่า 4,000 เล่ม อีกทั้งยังมีเอกสารส่วนตัวของตระกูล เช่น สมุดบันทึกประวัติตระกูล บันทึกส่วนตัว รายการสั่งซื้อสินค้า เอกสารซื้อขายสินค้าของห้างอับดุลราฮิมกับลูกค้า บัญชีทรัพย์สินของตระกูล ฟิล์ม ฟิล์มกระจก ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์และบรรยากาศบ้านเมืองกรุงเทพฯ ในอดีต ทางโครงการอับดุลราฮิมศึกษาได้ดำเนินการอนุรักษ์ตามแนวทางการจัดการจดหมายเหตุ โดยได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีการจัดทำทะเบียนเอกสารทุกเล่ม ทุกฉบับ  โดยประสานความร่วมมือกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในการวางแผนจัดทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล เพื่อความสะดวกในการสืบค้นและจัดการเผยแพร่ข้อมูลต่อไป

 

นิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”
 

 

ตัวอย่างหนังสือเก่าสำคัญที่บ่งบอกเรื่องราวประวัติศาสตร์สังคม อาทิ หนังสือเรียนของโรงเรียนสุนันทาลัย หนังสืออนุสรณ์งานเมาลิดกลาง ปี พ.ศ. 2489 พระคัมภีร์ในภาษาต่างๆ อาจารย์สมานช่วยเสริมข้อมูลว่า “หนังสืออนุสรณ์งานเมาลิดกลาง ปี พ.ศ. 2489 พบข้อมูลที่สำคัญคือด้านหลังปกหนังสือมีรายชื่อร้านค้ามุสลิมเกือบร้อยเจ้าจากหลากหลายนิกายที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานนี้” ขณะที่คุณสุนิติก็ช่วยเพิ่มเติมว่า “สำหรับคัมภีร์ที่พบนั้น นอกจากเขียนโดยภาษาไทยแล้ว ก็ยังมีเล่มที่เขียนโดยภาษาอาหรับ และภาษาลีซานุดดาวัต (Lisan ul-Dawat) ที่ผสมระหว่างภาษาคุชราตี (Gujarati) ภาษาอาหรับ (Arabic) ภาษาเปอร์เซีย (Fersi) และภาษาอูรดู (Urdu) เป็นภาษาของกลุ่มเฉพาะที่ส่วนมากชาวดาวุดีโบห์ราจะใช้ในการศึกษาศาสนาชั้นสูงขึ้นไป ซึ่งถ้าสามารถเชื่อมกับผู้รู้ทางกลุ่มดาวุดีโบห์ราแล้ว ก็น่าจะมีผู้รู้ที่จะช่วยในการอ่านและแปล เพื่อขยายองค์ความรู้เหล่านี้เพิ่มขึ้น

 

นิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”
 

 

นอกจากนี้ยังมีเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าของห้างอับดุลราฮิม และภาพถ่ายสถานที่ และเหตุการณ์สำคัญ รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม แบงก์สยามกัมมาจล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้บางส่วนได้ถูกรวบรวมและนำมาจัดทำเป็นหนังสือ “อับดุลราฮิมในแผ่นดินสยาม” ซึ่งมีคุณูปการในการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ศาสนา ประวัติศาสตร์สังคม และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่สะท้อนให้เห็นว่าชาวมุสลิมดาวุดีโบห์ราเป็นกลุ่มที่มีบทบาทเป็นอย่างมาก

 

นิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”

 

ทั้งนี้ แม้การเสวนา “จากคุชราตสู่สยาม : บทบาทพ่อค้ามุสลิมดาวุดีโบห์ราจากเอกสารจดหมายเหตุ” จะจบลงแล้ว แต่ทุกท่านยังสามารถติดตามต่อได้ที่ https://channel.sac.or.th/en/vdo/detail/  หรือเยี่ยมชมนิทรรศการ “จากคุชราตสู่สยาม: ตามรอยนายห้างอับดุลราฮิมแลชาวมุสลิมดาวุดีโบห์รา”ได้ที่ พื้นที่เรียนรู้ชั้น 2 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 

 


จิราพร แซ่เตียว

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ