บ้านเตาหม้อ เมืองนคร

บ้านเตาหม้อ เมืองนคร

 

บ้านเตาหม้อ ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำท่าซัก หมู่ที่ 1 ตำบลนาเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนเครื่องปั้นดินเผาเพียงแห่งเดียวในตัวอำเภอเมือง ที่ยังคงผลิตชิ้นงานในรูปแบบดั้งเดิมออกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยเหตุที่ตั้งอยู่ใกล้กับวัดศรีทวีหรือวัดท่ามอญ จึงมักถูกตั้งข้อสังเกตว่าชุมชนแห่งนี้เป็นกลุ่มช่างปั้นชาวมอญที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างไรก็ดี จากการสืบค้นเรื่องราวทั้งจากเอกสารและคำบอกเล่ากลับไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างช่างปั้นบ้านเตาหม้อกับกลุ่มคนมอญแน่ชัด มีเพียงเรื่องเล่าว่าแถบวัดท่ามอญในอดีตเคยมีชาวมอญล่องเรือมาค้าขาย บ้างตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ใกล้วัดศรีทวี อีกทั้งยังหลงเหลือการละเล่นสะบ้ามอญอยู่ในปัจจุบัน

 

เครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาหม้อ ส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน 

 

จากการศึกษาชุมชนบ้านเตาหม้อ มีข้อสันนิษฐานดังนี้

1. ชาวบ้านเตาหม้ออาจเคลื่อนย้ายขึ้นมาจากไทรบุรี เมื่อครั้งเจ้าพระยานคร (น้อย) นำกองทัพไปตีเมืองไทรบุรี แล้วกวาดครัวขึ้นมา โดยกลุ่มที่เป็นช่างฝีมือได้ตั้งบ้านเรือนในเขตตำบลในเมืองและตำบลคลัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตำบลนาเคียนมากนัก

2. ทุ่งสงวนที่อยู่ใกล้กับบ้านเตาหม้อ ห่างออกไปทางตะวันออกราว 700 เมตร เป็นแหล่งดินที่สามารถนำไปทำเครื่องปั้นดินเผาได้ โดยทางการได้กันพื้นที่ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จำนวน 5 ไร่ ดังนั้น ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงคงมีฝีมือการทำเครื่องปั้นดินเผาอยู่บ้าง และได้ใช้ดินที่แหล่งนี้ผลิตภาชนะใช้ในชีวิตประจำสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน

3. จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุบางท่านกล่าวว่า พื้นที่แถบนี้แต่เดิมเป็นป่ารก มีผู้คนอาศัยอยู่ไม่มากนัก ต่อมาได้มีชาวตำบลปากพูน อำเภอเมือง ซึ่งอยู่เหนือขึ้นไป เคลื่อนย้ายลงมายังพื้นที่แถบนี้เพื่อทำนา ปลูกมะพร้าว รวมถึงทำหม้อดิน

 

จากข้อสันนิษฐานข้างต้น อาจยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ แต่พออนุมานได้ว่ากลุ่มชาวบ้านเตาหม้อซึ่งปัจจุบันเป็นชาวพุทธเสียส่วนใหญ่นั้น คงตั้งรกรากและมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผามาอย่างยาวนาน โดยพบว่าชื่อลำน้ำท่าซักแถบบ้านเตาหม้อมีอีกชื่อหนึ่งว่า “คลองบางเตา” ดังปรากฏอยู่ในแผนที่สมัยรัชกาลที่ 5 สะท้อนถึงการเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นที่มีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว 

 

นอกจากนี้มีชาวบ้านเตาหม้อบางส่วนที่เคลื่อนย้ายลงมาจากแถบตำบลบางพูนด้วย เพราะจากปากคำของชาวบ้านมะยิง ตำบลโพธิ์ทอง อำเภอท่าศาลา ซึ่งเป็นชุมชนช่างปั้นเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่เคลื่อนมาจากตำบลโมคลาน ติดกับตำบลปากพูน ได้ให้ข้อมูลว่า คนเก่าแก่ที่นี่ก็เป็นเครือญาติกับชาวบ้านเตาหม้อด้วยเหมือนกัน

 

คุณดอน วิทยามาส ช่างปั้นบ้านเตาหม้อ 1 ใน 2 ครอบครัวที่ยังเหลืออยู่

 

มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับบ้านเตาหม้อหรือบ้านนอกไร่ โดยสุชาติ วิสุทธิพันธุ์ เมื่อกว่า ๓๐ ปีที่แล้ว กล่าวว่าชุมชนแห่งนี้แต่เดิมทำเครื่องปั้นดินเผากันหลายหลัง แต่เวลานั้นหลงเหลืออยู่เพียง 5 หลังคาเรือน และเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน บ้านเตาหม้อคงเหลือกลุ่มทำเครื่องปั้นดินเผาเพียง 2 หลังคาเรือนเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือบ้านของคุณดอน วิทยามาส ช่างปั้นวัย 50 ปี ผลิตเครื่องปั้นดินเผาด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ โดยช่วยกันทำกับมารดาคือ คุณปราณี วิทยามาส วัย 75 ปี

 

พี่ดอนได้เล่าถึงการทำเครื่องปั้นที่นี่ว่ามีมานานแล้ว แต่เดิมผลิตหม้อดิน “สวด” หรือ “หวด” นึ่งข้าว เตาวงหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เขาควาย” รวมถึง “เผล้ง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกหม้อน้ำปากกว้างชนิดหนึ่ง ต่อมาสมัยหลังเปลี่ยนมาผลิตเครื่องปั้นประเภทของฝากหรือของชำร่วย เช่น หม้อขนาดเล็ก เตาขนมครกจิ๋ว ซึ่งนิยมซื้อหาเป็นของฝากมากกว่า เพราะความนิยมในการใช้สอยเครื่องปั้นดินเผาในชีวิตประจำวันถูกแทนที่ด้วยภาชนะโลหะกันมากแล้ว

 

แหล่งดินเนื้อละเอียดอยู่ไม่ไกลจากบ้านเตาหม้อ เมื่อได้มาแล้วจะนำมาพรมน้ำและเก็บไว้รอใช้งาน 

 

สำหรับแหล่งดินนำมาจากพื้นที่ที่ทางการสงวนไว้ให้กับชาวบ้านใช้ประโยชน์  แต่ละวันพี่ดอนจะขี่รถจักรยานยนต์ไปเก็บดินเนื้อละเอียดสีนวลคราวละ 10-15 กิโลกรัม มาพักไว้ที่บ้าน พรมน้ำ และเอาพลาสติกคลุมไว้หรือทิ้งไว้ในกระสอบเป็นเวลา 1 คืน จากนั้นจึงนำดิน 4 ส่วน ผสมกับทราย 1 ส่วน ขั้นแรกทำการนวดดินโดยการเหยียบ ระหว่างนั้นพรมน้ำเพิ่มเติมเพื่อให้ดินอ่อนตัวมากขึ้น จากนั้นจึงใช้มือนวด ก่อนนำขึ้นแป้นหมุนเพื่อทำการขึ้นรูปเป็นแบบต่างๆ ต่อไป

 

หม้อดินที่ปั้นแล้ว นำมาตากแดดอ่อนๆ ก่อนนำเข้าเตาเผา 

 

ที่บ้านเตาหม้อปัจจุบัน ยังคงใช้แป้นหมุนแบบโบราณที่ใช้แรงงานคน ทำด้วยไม้ ประกอบด้วยแป้น ฐานแป้น ซึ่งมีลักษณะค่อนข้างหนาเพื่อถ่วงน้ำหนัก และแกนที่ปักลงกับดิน เรียกว่า “โด” อุปกรณ์โดยรวมทั้งหมดนี้เรียกว่า “มอน”  การปั้นต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษและใช้ช่างปั้นเพียงคนเดียว มือหนึ่งหมุนแป้น อีกมือหนึ่งใช้ในการปั้นดินขึ้นรูปภาชนะ แม้กรรมวิธีการปั้นค่อนข้างลำบาก แต่สำหรับภาชนะ เช่น หม้อขนาดเล็กๆ สามารถผลิตได้ถึงวันละ 150-200 ใบเลยทีเดียว ส่วนภาชนะขนาดใหญ่ได้วันละประมาณ 50 ชิ้น ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย

 

เตาเผาก่ออิฐแบบดั้งเดิม พัฒนามาจากการขุดจอมปลวกเพื่อทำเป็นเตาเผา ปัจจุบันมีการพอกปูนซีเมนต์เพื่อความคงทน

 

หลังจากนำเครื่องปั้นไปตากแดดอ่อนๆ ราว 1 วัน หากเป็นหม้อจะใช้ “ลูกตุ้ง” ที่เป็นแท่งดินเผาฝั่งหนึ่งกลมมน ดุนด้านในหม้อ แล้วใช้ไม้ตีให้เนื้อดินแน่นและเป็นทรงมากขึ้น จากนั้นจึงนำไปผึ่งลมหรือตากแดดอ่อนอีก 1-2 วัน ก่อนนำเข้าเตาเผา ลักษณะเตาเผาที่บ้านเตาหม้อเป็นรูปแบบดั้งเดิม พัฒนามาจากเตาเผาธรรมชาติในยุคโบราณ ที่เกิดจากการขุดจอมปลวกให้เป็นหลุมแล้วนำภาชนะมาเผา ต่อมาปรับเป็นเตาหลุมหรือเตาถัง ด้านบนเปิดโล่ง แต่มีช่องใส่ฟืนด้านหน้า ซึ่งการเผาด้วยเตาลักษณะนี้นับว่าสืบต่อมาแต่โบราณ พี่ดอนเล่าว่ายังทันเห็นในวัยเด็ก เดิมเป็นเตาแบบก่ออิฐแล้วพอกด้วยดิน ภายหลังจึงมีการพอกปูนซีเมนต์แล้วรัดด้วยลวดเพื่อความแข็งแรง

 

เตาเผาแบบเปิดมีข้อเสียที่การควบคุมความร้อน เครื่องปั้นดินเผาที่ได้บ้างชิ้นมีตำหนิหรือแตกร้าว แต่ส่วนใหญ่ยังใช้ได้ 

 

ในขั้นตอนการเผาจะนำภาชนะวางซ้อนตะแคงกันเป็นแถวสลับกับฟืน และมีฟืนอีกชุดหนึ่งใส่ที่ช่องด้านหน้า แล้วเอาเศษกระเบื้องวางปิดไว้ที่ด้านบนเพื่อรักษาความร้อนภายในให้ทั่วถึง จากนั้นจึงทำการสุมไฟ โดยเริ่มจากไฟอ่อนราว 6 ชั่วโมง และค่อยๆ เร่งไฟแรงขึ้นอีกราว 10 ชั่วโมง จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็นลงประมาณ 1 คืน จึงลำเลียงออกมาจากเตาเผา แต่ด้วยเป็นเตาเผาแบบดั้งเดิมที่ไม่สามารถควบคุมความร้อนให้สูงมากได้ จึงสามารถผลิตเครื่องปั้นเนื้อดินที่ใช้ความร้อนราว 800-900 องศาเซลเซียสเท่านั้น ไม่สามารถผลิตเครื่องปั้นแบบเคลือบที่ต้องใช้กำลังไฟสูงราว 1,000-1,100 องศาเซลเซียสได้ อีกทั้งเป็นเตาแบบเปิด การควบคุมความร้อนทำได้ยากกว่าเตาสมัยใหม่ ทำให้เครื่องปั้นดินเผาที่ได้มีทั้งที่สมบูรณ์และมีตำหนิ

 

“เนียง” หรือพะเนียง หรือตุ่มใส่น้ำ ซึ่งมักตั้งอยู่ที่หน้าบ้านสมัยก่อน

 

สำหรับเครื่องปั้นดินเผาชิ้นที่สมบูรณ์ เช่น หม้อดิน จะขายกันในราคา 100-200 บาทต่อใบ ส่วนใบที่มีตำหนิ แต่ยังใช้งานได้ ขายในราคาใบละ 50 บาท สมัยก่อนตลาดรับซื้อที่สำคัญคือร้านขายเครื่องปั้นและเครื่องจักสานที่ย่านตลาดยาวในตัวเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงมีผู้รับซื้อไปขายยังเขตอำเภอท่าศาลา พรหมคีรี และในเขตจังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง

 

“สวด” หรือหวดดินเผา ซึ่งตั้งอยู่บนเตาวงที่มักเรียกกันว่า “เขาควาย”

 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การซื้อขายเครื่องปั้นดินเผาเริ่มซบเซาลง คงเหลือเพียงแผงค้าขายหน้าบ้านเท่านั้น แม้จะมีผู้สนใจมาศึกษา ซื้อหา และมีการผลักดันให้เครื่องปั้นบ้านเตาหม้อเป็นสินค้า OTOP จนเกิดการรวมกลุ่มและสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเตาเผาของหลายครอบครัวก็ทยอยปิดตัวลง จนหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่รายที่รอให้ผู้สนใจได้เข้ามาสัมผัส และค้นหารากเหง้างานฝีมือดั้งเดิมของคนเมืองคอนที่ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

 

ปัจจุบันมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นของชำร่วยมากขึ้น ซึ่งง่ายแก่การซื้อหาเป็นของฝาก


การใช้แป้นหมุนด้วยมือแบบโบราณ ใช้ช่างปั้นเพียงคนเดียว มือหนึ่งหมุนแป้น อีกมือหนึ่งปั้นขึ้นรูปภาชนะ (ภาพ : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย)

 

ขอขอบคุณ

คุณดอน  วิทยามาส, คุณปราณี วิทยามาส, คุณบัญฑิต สุทธมุสิก และคุณสุเมธ รัตนวรรณ

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ