รอยอดีตที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

รอยอดีตที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

 

มีตำนานเก่าแก่เล่าต่อกันมาว่า “...ดงแพงหรือบริเวณที่ตั้งของบ้านเชียงในปัจจุบัน เคยตกอยู่ใต้อิทธิพลขอม มีนครหลวงอยู่ที่หนองหาน ครั้งหนึ่งมีเด็กชายจากบ้านดงแพงอพยพไปอยู่แถบหนองหาน ต่อมาได้บวชเณรและลาสิกขาเมื่อเข้าวัยหนุ่ม เขาเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มรูปงาม ผู้คนทั่วไปจึงพากันเรียกว่าเชียงงาม เขาเป็นที่ชื่นชอบในหมู่หญิงสาวรวมทั้งพระมเหสีของพระยาขอม ต่อมาไม่นานก็ถูกพระยาขอมลงโทษด้วยการประหารชีวิต ก่อนตายเขาได้สาปแช่งพระยาขอมและบ้านเมืองให้พินาศซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป อาณาจักรขอมก็เสื่อมโทรมลง บ้านเมืองรกร้าง...” [1]  กระทั่งมีกลุ่มคนชาวลาวพวนจากฝั่งประเทศลาวอพยพหนีเหตุการณ์ความไม่สงบเข้ามาจับจองที่ทำกินที่บ้านดงแพงเมื่อช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้มีข้อสันนิษฐานว่าชื่อบ้านเชียงอาจมาจากคำว่าเชียงในภาษาลาวพวนที่แปลว่า เจริญ รุ่งเรือง หรืออาจตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงตำนานเรื่องเชียงงาม คนบ้านดงแพงก็เป็นได้

 

บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ได้รับการดำเนินงานทางโบราณคดีอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 โดยในครั้งนั้นนักโบราณคดีได้พบโครงกระดูกมนุษย์ 14 โครง ถูกฝังร่วมกับวัตถุอุทิศจำนวนมากในพื้นดินที่ระดับความลึกตั้งแต่ 50-210 เซนติเมตรจากผิวดินปัจจุบัน

 

หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง

 

โครงกระดูกมนุษย์ถูกฝังร่วมกับวัตถุอุทิศจำนวนมาก

 

หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง

 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2515 กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีในซึ่งอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง มาทางทิศตะวันออกประมาณ 800 เมตร และบริเวณบ้านของนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ลาด ผลจากการขุดค้นทำให้พบโครงกระดูกมนุษย์รวมกว่า 150 โครงที่ถูกฝังร่วมกับโบราณวัตถุจำพวกเครื่องมือเครื่องใช้และภาชนะดินเผาแบบต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในปีถัดมากรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นเพิ่มเติมและพบร่องรอยหลุมเสาบ้านกับหลุมฝังศพของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียงอีกกว่า 70 โครง ต่อมาในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2517-2518 กรมศิลปากรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงอย่างเป็นสหวิทยาการโดยผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงสาขา อาทิ โลหะวิทยาสมัยโบราณ กระดูกสัตว์ มานุษยวิทยากายภาพ ชาติวงศ์พฤกษศาสตร์โบราณ พืชและอากาศสมัยโบราณ เป็นต้น การขุดค้นในครั้งนั้นยังได้มีการส่งตัวอย่างชิ้นส่วนภาชนะดินเผาไปหาค่าอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกาด้วย

 

ภาชนะดินเผาแบบต่างๆ ที่ถูกขุดค้นพบภายในหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน 

 

ภาชนะดินเผาแบบต่างๆ ที่ถูกขุดค้นพบภายในหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน  

 

โครงกระดูกมนุษย์ถูกฝังร่วมกับวัตถุอุทิศจำนวนมาก

 

ถัดมาในปี พ.ศ. 2535 กรมศิลปากรต้องการพัฒนาหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไป ดังนั้น กรมศิลปากรจึงดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมผนังหลุมขุดค้นในวัดโพธิ์ศรีในซึ่งได้รับการขุดค้นมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และสร้างอาคารคลุมหลุมเพื่อป้องกันภัยจากธรรมชาติ นอกจากนั้นยังได้ทำการขุดค้นเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมหลุมขุดค้นภายในวัดโพธิ์ศรีในทั้ง 2 หลุมซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 5 เมตรให้ยาวต่อเนื่องเป็นหลุมเดียวกัน ผลการขุดค้นเพื่อเชื่อมหลุมจัดแสดงในครั้งนั้นทำให้พบหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถูกฝังร่วมกับวัตถุอุทิศต่างๆ เพิ่มอีกกว่า 50 หลุม และในปีเดียวกันนี้ หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในยังได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่สหรัฐอเมริกาด้วย

 

หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในยังได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม

 

แผนผังหลุมฝังศพที่วัดโพธิ์ศรีใน 

 

หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง

 

ภาชนะดินเผาแบบต่างๆ ที่ถูกขุดค้นพบภายในหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน  

 

“...การวิเคราะห์กระดูกสัตว์และเปลือกหอยที่พบในหลุมขุดค้นบ้านเชียง ทำให้สรุปได้ว่าเมื่อครั้งที่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานนั้น บริเวณบ้านเชียงมีแหล่งน้ำที่มีน้ำขังตลอดทั้งปี มีลำน้ำที่มีน้ำเฉพาะฤดู มีที่ลุ่ม บึง และลำธารมากกว่าในปัจจุบัน มีพื้นที่ป่าเต็งรังอยู่โดยรอบ และมีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมซึ่งประกอบด้วยฤดูฝน ฤดูร้อนและฤดูหนาว ต่อมาเมื่อราว 3,000-2,500 ปีมาแล้ว จึงมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเกิดขึ้น กล่าวคือ กระดูกสัตว์บางประเภทลดลงแสดงให้เห็นว่าปริมาณของแหล่งน้ำและพื้นที่ป่าที่เคยมีอยู่ใกล้ๆ ชุมชนนั้น ลดลงไป ซึ่งได้มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นผลเนื่องมาจากการปรับพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ป่าให้เป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกและเป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่มีการใช้เครื่องมือเหล็กและมีการเลี้ยงควายแล้วจึงเกิดเป็นข้อสันนิษฐานในลำดับต่อไปว่าระยะนี้น่าจะมีการปลูกข้าวแบบนาดำที่มีการกักเก็บน้ำ...” [2]

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ที่ได้จากขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  

 

นิทรรศการเรื่องการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  

 

ภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดงหลากหลายรูปแบบ พบเป็นจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  

 

ภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดงหลากหลายรูปแบบ พบเป็นจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  

 

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาที่เปิดหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งนั้น ก็มีความพยายามในการอนุรักษ์โบราณวัตถุในหลุมขุดค้นร่วมกับการแก้ปัญหาจากความชื้น แสงแดด และภัยธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ควบคู่มาเสมอ เช่น การฉีดพ่นน้ำยาเคมีที่ผนังหลุม การเสริมโครงสร้างผนังหลุมบางส่วนด้วยคอนกรีต การตัดความชื้นจากน้ำใต้ดินโดยใช้แผ่นพลาสติกสอดไปด้านล่างหลุมฝังศพ การเคลือบผิวภาชนะดินเผาและโครงกระดูกด้วยสารเคมี เป็นต้น แต่ก็ไม่สามารถยุติปัญหาเหล่านั้นได้ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2546 กรมศิลปากรจึงจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้นด้วยการเก็บกู้หลักฐานทางโบราณคดีทั้งหมดและขุดค้นลงไปจนถึงชั้นดินที่ไม่พบร่องรอยวัฒนธรรมมนุษย์ คัดสรรบางส่วนไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง ก่อนจำลองโบราณวัตถุลงไปจัดแสดงในหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในเป็นการถาวรอีกครั้ง  

 

ภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดงหลากหลายรูปแบบ พบเป็นจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  

 

ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ 

 

ภาชนะดินเผาเขียนลวดลายสีแดงหลากหลายรูปแบบ พบเป็นจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  

 

 

ภาชนะดินเผาสำหรับบรรจุศพเด็ก 

 

ทั้งนี้ สามารถจำแนกรูปแบบการฝังศพของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงออกได้เป็น 3 สมัย คือ

1.สมัยต้น (Early Period) 5,600-3,000 ปีมาแล้ว เครื่องมือเครื่องใช้ของผู้คนในระยะแรกของสมัยต้นยังเป็นเครื่องมือจากขวานหินขัด เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอยทะเล แต่ในระยะปลายเมื่อราว 4,000 ปีลงมา เริ่มพบเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับจากสำริด

2.สมัยกลาง (Middle Period) 3,000-2,300 ปีมาแล้ว ในสมัยกลางพบคติการทุบภาชนะดินเผาวางรองใต้โครงกระดูกที่ถูกฝังในท่านอนหงายเหยียดยาว โดยเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับส่วนใหญ่ทำจากสำริด  

3.สมัยปลาย (Late Period) 2,300-1,800 ปีมาแล้ว พบการนำเหล็กมาทำเครื่องมือเครื่องใช้อย่างแพร่หลาย และพบการนำสำริดมาทำเครื่องประดับด้วย

 

โครงกระดูกวัวสันหลังโหนก ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกนำมาเลี้ยงโดยชาวบ้านเชียงในยุคเริ่มแรก 

 

โครงกระดูกมนุษย์ที่พบจากการขุดค้น 

 

กำไลสำริด 

 

ลูกปัดแก้ว 

 

ท่านที่สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง และหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ได้ในวันพุธ-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์-อังคาร) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 042-235-040

 

รูปจำลองการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง 

 

รูปจำลองการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

 

รูปจำลองการผลิตภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 

 

เชิงอรรถ  

[1] พิสิฐ เจริญวงศ์, บ้านเชียง, กรุงเทพ : พิฆเนศ, 2516, หน้า 70.

[2] โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กองประวัติศาสตร์, อีสานเหนือ, กรุงเทพ : จงเจริญการพิมพ์, 2532, หน้า 71-73.

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ