“ฮ้อนหว่องกุง” ศาลเจ้าจีนแคะในหมู่บ้านฮกเกี้ยน

“ฮ้อนหว่องกุง” ศาลเจ้าจีนแคะในหมู่บ้านฮกเกี้ยน

 

เจ้าพระยา...สายน้ำใหญ่ที่ไหลผ่าเมืองบางกอกแยกเป็นสองฝั่ง แต่ละฟากประกอบด้วยชุมชนน้อยใหญ่ที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมายาวนาน ด้วยสายน้ำคือต้นธารชีวิตของผู้คนในอดีต ที่ต้องใช้ทั้งอุปโภคบริโภค ตลอดจนเป็นเส้นทางสัญจรติดต่อค้าขายไปมาหาสู่กัน มรดกวัฒนธรรมริมน้ำของแต่ละบ้าน แต่ละหมู่เหล่าจึงปรากฏเรียงรายตลอดริมน้ำหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุงของชาวจีนแคะที่ตลาดน้อย อันเป็นย่านชาวจีนที่ต่อเนื่องมาจากสำเพ็งและเยาวราช

 

ตลาดน้อย หรือที่คนจีนเรียกว่า ตะลักเกี้ยะ เป็นชุมชนชาวจีนที่ตั้งอยู่ตอนใต้ของสำเพ็ง และน่าจะตั้งชุมชนหมู่บ้านขึ้นมาพร้อมๆ กับชาวจีนที่โยกย้ายจากบริเวณพระบรมมหาราชวังมาตั้งบ้านกันที่สำเพ็ง เพราะพื้นที่ริมน้ำย่อมสะดวกกับการคมนาคมและค้าขาย โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนฮกเกี้ยนที่เคยตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งคลองบางหลวง ได้ย้ายเข้ามาจับจองตั้งหมู่บ้านและสร้างศาสนสถานของกลุ่มตนขึ้น นั่นคือศาลเจ้าโจวซือกง ซึ่งวันนี้เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนกรุงเทพฯ เพราะเมื่อถึงเทศกาลกินเจ รอบอาณาบริเวณศาลเจ้าจะคึกคักไปด้วยอาหารเจหลากชนิดให้เลือกซื้อหาติดไม้ติดมือ หลังจากไปไหว้เจ้าหรือดูงิ้วจนอิ่มใจ

 

 

บรรยากาศของย่านตลาดน้อยในปัจจุบัน ยังคงเห็นหมู่ตึกแบบจีนและเรือนแถวไม้ชั้นเดียวและสองชั้นที่งดงาม

ซึ่งชาวตลาดน้อยวันนี้กำลังพยายามชุบชีวิตย่านเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

 

ทว่าผู้เขียนหาได้ต้องการนำเสนอถึงศาลเจ้าใหญ่ของถิ่นตลาดน้อย ณ ที่นี้ แต่กลับสนใจศาลเจ้าอีกแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างไกลกันนัก เป็นศาลเจ้าของกลุ่มชาวจีนแคะที่ได้มาอยู่ปะปนกับชาวฮกเกี้ยน ซึ่งคนไทยรู้จักและเรียกกันถนัดปากว่า ศาลเจ้าโรงเกือก มากกว่าที่จะออกนามตามแบบคนไทยเชื้อสายจีน ที่เรียกชื่อศาลเจ้าตามเทพประธานของศาลแห่งนั้น คือ เทพฮ้อนหว่องกุง อันเป็นที่มาของชื่อ ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง แห่งนี้

 

ศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุงที่ตั้งอยู่ประชิดริมแม่น้ำเจ้าพระยา การวางผังยังเป็นลักษณะเก่า ประกอบด้วยอาคาร 4 หลังล้อมลาน

 

แคะหรือฮากกา

หนึ่งในคนจีน 5 กลุ่มใหญ่ที่อพยพเข้ามาในดินแดนสยาม คือ ชาวจีนแคะ ที่ถูกเรียกตามสำเนียงของคนจีนแต้จิ๋วว่า แขะแก มีความหมายว่า ครอบครัวผู้มาเยือน ส่วนในภาษาจีนแคะเรียกตัวเองว่า หักก๊า หรือ ฮากกา อันหมายถึงเป็นชนชาวจีนฮั่นกลุ่มหนึ่งคนจีนแคะจึงเป็นฮากกาฮั่นหรือชาวจีนฮั่น แต่พูดภาษาถิ่นฮากกา การที่ถูกเรียกว่าผู้มาเยือนหรืออาคันตุกะนั้นก็เพราะเดิมบรรพบุรุษชาวฮากกาอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของจีน แต่เนื่องจากภัยพิบัติธรรมชาติ ความไม่สงบทางสังคม และการรุกรานจากผู้ยึดครองต่างชาติ ชาวฮากกาจึงอพยพโยกย้ายลงสู่ดินแดนตอนใต้หลายระลอกด้วยกัน ชาวท้องถิ่นเดิมจึงเรียกผู้เข้ามาอยู่ใหม่เช่นนั้น

 

ชาวฮากกาซึ่งเป็นผู้ไปอยู่ทีหลัง ไม่มีโอกาสเลือกทำเลที่ดีในการตั้งถิ่นฐาน และบางแห่งยังเป็นที่เดียดฉันท์ของคนพื้นถิ่นเดิม ทำให้พวกฮากกาต้องไปตั้งบ้านเรือนตามแถบป่าเขาถิ่นทุรกันดาร ที่ไม่มีผู้ใดสนใจครอบครอง ดังนั้นจึงต้องตั้งหมู่บ้านที่มีลักษณะป้องกันตัวเอง ทั้งจากสัตว์ร้ายและโจรป่าที่จะมาปล้นสะดม ฮากกาจึงสร้างบ้านแบบป้อมปราการที่ต่อมาได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มตน เรียกว่า “ถู่โหล่ว” ซึ่งเป็นบ้านที่สร้างด้วยดินภายในเป็นไม้ไผ่สาน พอกทับด้วยดินเหนียว มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสหรือวงกลม ออกแบบให้เป็นได้ทั้งป้อมค่ายและอาคารอยู่อาศัยคล้ายอพาร์ตเมนต์ มีประตูทางเข้าออก แต่ไม่มีหน้าต่างในระดับพื้นดิน แต่ละชั้นก็มีหน้าที่แตกต่างกัน เช่น ชั้นแรกไว้เลี้ยงสัตว์ ชั้นสองไว้เก็บอาหาร และชั้นสามเป็นที่อยู่อาศัยหมู่บ้านดินลักษณะนี้พบกระจายตัวอยู่ในเขตภูเขาด้านทิศใต้และตะวันตกของมณฑลฟูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโกด้วย

 

  ภาพวาดอยู่บนกำแพงบริเวณทางเข้าศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุงหรือศาลเจ้าโรงเกือก เพื่อแสดงว่าที่นี่เคยมีการเย็บเกือก ซึ่งจะเป็นเกือกชนิดใดคงต้องสืบค้นต่อไป

 

สำหรับในประเทศไทย ชาวฮากกากระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ที่หนาแน่นได้แก่ทางภาคใต้เช่น อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา นอกนั้นก็มีทางกาญจนบุรี ราชบุรี ภาคเหนือมีตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก  นครสวรรค์ ส่วนทางอีสาน เช่น อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ เป็นต้น ในกรุงเทพฯ นอกจากจุดใหญ่แถบเยาวราช ตลาดน้อยแล้ว ก็มีทางฝั่งคลองสาน แถบท่าดินแดง ซึ่งเคยมีคลองที่เรียกว่า คลองแคะ และยังมีศาลเจ้าซำไนเก็งปรากฏอยู่

 

ชาวจีนแคะย่านท่าดินแดงในอดีตมีอาชีพในการค้าหนังสัตว์ ทำเครื่องหนัง อันเป็นความเชี่ยวชาญอย่างหนึ่งของคนจีนแคะ นอกเหนือไปจากการทำเครื่องหวาย เครื่องเหล็ก เครื่องเงินเครื่องทองพลาสติก สิ่งทอ และทำเกษตรกรรม ส่วนจีนแคะในตลาดน้อย น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญในด้านเครื่องเหล็ก เพราะเหตุที่ชื่อศาลเจ้าของพวกเขาถูกเรียกว่า ศาลเจ้าโรงเกือก และ “เกือก” ที่ว่านี้หาใช่รองเท้าที่คนใส่ แต่ อ. เจริญ ตันมหาพราน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนในย่านไชน่าทาวน์ ได้ให้ข้อมูลจากการที่มีคนเก่าแก่เล่าให้ฟังว่าเป็นการทำเกือกม้า และก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูง เพราะคนจะตีเหล็กใส่เกือกม้าได้ ต้องเป็นช่างเหล็กแถบนี้เคยเป็นท่าเรือสำเภา มีการทำสมอเรือ อีกทั้งการถอดอะไหล่และซ่อมแซมเครื่องจักรเก่าจนกลายเป็นย่านเซียงกงดังเช่นทุกวันนี้ได้ ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญในงานเครื่องเหล็กมาก่อน ผู้เขียนจึงเชื่อว่าจีนแคะย่านตลาดน้อยน่าเป็นผู้ทำอาชีพด้านเครื่องเหล็กและเครื่องจักรกล จนนำมาสู่การสร้างศาลของพวกตนในย่านนี้

 

องค์เทพประธานของศาลตั้งอยู่ในซุ้มไม้แกะสลัก ศิลปะผสมผสานระหว่างจีนกับยุโรปที่งดงามและหาชมได้ยากยิ่ง

 

ศาลเจ้าของกลุ่ม (ฮกเกี้ยน) แคะ

จากประวัติของศาลเจ้าโรงเกือกหรือศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง ที่นายสุชาติและนางศิริพร พรชัยวิเศษกุล ได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์ขึ้น โดยการถอดความจากจารึกบนป้ายศิลาภายในศาลเจ้าดังกล่าว ที่บันทึกในรัชสมัยจักรพรรดิกวางสู ปีที่ 15 ตรงกับปี พ.ศ. 2432 ระบุว่า 

พ่อค้าชาวจีนฮากกา (จีนแคะ) ได้เชิญองค์เจ้าพ่อฮ้อนหว่องกุงจากเมืองจีนมาประดิษฐานบูชาในประเทศไทยเป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปี ก่อนที่จะมีการสร้างศาลเจ้าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว โดยศาลเจ้าหลังเดิมตั้งอยู่ในบริเวณด้านขวามือ ต่อมาเมื่อมีการจัดงานแห่เจ้าพ่อฮ้อนหว่องกุงขึ้น  ผู้ที่มาร่วมพิธีแห่เจ้าเห็นว่าสถานที่ของศาลเจ้าหลังเดิมคับแคบไม่เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรม ในปี พ.ศ. 2431คณะกรรมการศาลเจ้าซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าชาวจีนฮากกาประกอบด้วยนายหลิ่วเขี่ยนฮิน นายหยี่จงซึ้น นายอึ้งเมี่ยวเหงี่ยน นายฉึ่นไท้เหงี่ยน นายจูกว้องยี้ นายหลิ่วเขี่ยนซุ้น นายเลี้ยวเหงี่ยนซุ้น นายเท้นวั้นฮับ และนายไล้หยิ่นจี๊ เป็นต้น ได้เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินซื้อที่ดินด้านซ้ายของศาลเจ้าหลังเดิม ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งขณะนั้นยังมีสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านไม้หลังคาจากจากเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นข้าราชการไทย เป็นเงินจำนวน 2,400 บาท เมื่อสร้างศาลเจ้าหลังใหม่แล้วเสร็จ ได้ใช้พื้นที่บริเวณด้านหน้าจัดให้มีการประมูลภาษีอากรประจำปีขึ้น รายได้จากการประมูลและเงินที่เหลือจากการเรี่ยไรซื้อที่ดิน ได้มอบให้เป็นเงินทุนสะสมของคณะกรรมการศาลเจ้าไว้ใช้ในงานแห่เจ้า และบริหารงานของศาลเจ้าต่อไป...

 

เทพเจ้าฮ้อนหว่องกุง ตรงป้ายสีแดงซ้ายมือที่ระบุว่า คังไท้เป้า

 

พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) (ภาพ : www.pantip.com)

 

นอกจากนี้เรื่องการสร้างศาลเจ้าก็ยังมีประวัติเพิ่มเติมว่า พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน โชติกเสถียร) เจ้ากรมท่าซ้าย ซึ่งเป็นคนจีนแคะได้เป็นประธานในการสร้างศาลเจ้าแห่งนี้ด้วย สอดคล้องกับอาคารที่ประดิษฐานเจ้าพ่อประทานลาภนั้น เดิมคือโรงสูบน้ำเก่าของพระยาโชฎึกฯ ที่ดำเนินกิจการขายน้ำประปาให้กับคนจีนในย่านสำเพ็ง-ตลาดน้อย  

 

 ในศาลมีเทพเจ้าองค์อื่นๆ ให้เคารพกราบไหว้ด้วย เช่น เจ้าแม่ทับทิม เพราะศาลตั้งอยู่ติดริมน้ำและเป็นเทพที่คนเดินเรือนิยมบูชา

 

เทพปุนเถ้ากงของศาลเจ้าแห่งนี้แปลกตากว่าแห่งอื่นๆ น่าสนใจที่เจว็ดสองข้าง ด้านหนึ่งเขียนเป็นอารักษ์แบบจีน อีกข้างเป็นอารักษ์แบบไทย

 

เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี้ยหรือเจ้าพ่อประทานลาภ ที่ประดิษฐานบนอาคารโรงสูบน้ำเก่า

 

เมื่อพิจารณาถึงประวัติของศาลเจ้าและเทพประธานของศาลที่มักมีการเขียนเผยแพร่ว่า เทพเจ้าฮ้อนหว่อง หรือ ฮั่นหวางนี้ คือ ปฐมกษัตริย์ของของราชวงศ์ฮั่น แต่ผู้ศึกษาเกี่ยวกับศาลเจ้าจีนอย่างสมชัย กวางทองพานิชย์ กลับไม่เห็นด้วยและตั้งข้อสังเกตใหม่ได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย

 

ผมว่าไม่ใช่เทพที่เป็นจักรพรรดิฮั่น เพราะระบบจีนเรียกจักรพรรดิว่า ‘หวังตี้’ แต่ตำแหน่งฮ้อนหว่องกุงหรือฮั่นหว่องกง เป็นแค่ระดับอ๋อง เป็นเจ้าผู้ครองแคว้น ชื่อของเขาก็บอกในตัวอยู่แล้ว ป้ายสีแดงตรงข้างองค์เทพเขียนว่า ‘คังไท้เป้า’ คำว่า ไท้เป้า มันจะหมายถึงองครักษ์ก็ได้ และเมื่อเราค้นคว้าต่อถึงตำแหน่งฮั่นหว่องกง หรือฮั่นอ๊วง มีกล่าวถึงชื่อ เล่าตี๊เอี้ยง ท่านนี้เป็นแซ่เล้า เป็นประเด็นน่าสนใจทีเดียว เพราะเมื่อกลับไปดูแซ่ของพระยาโชฎึกฯ เถียน ก็เป็นคนแซ่เล้าเช่นกัน และท่านเป็นฮกเกี้ยนแคะ (กลุ่มชาวแคะที่อาศัยอยู่ในมณฑลฟูเจี้ยน หากอาศัยอยู่ในกวางตุ้งก็เรียกพวกกวางตุ้งแคะ อยู่ในแต้จิ๋วเรียกแต้จิ๋วแคะ-ผู้เขียน) เช่นเดียวกับเล่าตี๊เอี้ยงก็เป็นฮกเกี้ยนแคะเช่นกัน...

คนจีนมีการสืบค้นสาแหรกตระกูลได้ถึงบรรพบุรุษตัวเอง และเมื่อในบรรพบุรุษมีบุคคลที่สร้างชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล ก็จะมีการเคารพนับถือบูชาเป็นพิเศษ จึงเป็นไปได้ว่าตระกูลพระยาโชฎึกฯ บูชาฮั่นหว่องกง เมื่อสร้างศาลเจ้าขึ้นมา จึงอัญเชิญเทพที่ตนเคารพมาเป็นองค์ประธานของศาลในหมู่พวกตน  อีกอย่างผมคิดว่าคนจีนที่อพยพเข้ามาสยาม เมื่อมาถึงก็จะไปพำนักอยู่กับญาติหรือคนบ้านเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน หากไม่รู้จักกันมักไม่รับคนต่างกลุ่มต่างถิ่น มันเป็นระบบป้องกันตัวเองด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมศาลเจ้าของจีนแคะตั้งอยู่ได้ในหมู่บ้านของพวกฮกเกี้ยน เพราะเขามีสายสัมพันธ์กัน และพวกแคะที่นี่แหละเคยให้ข้อมูลผมว่า สมัยบรรพบุรุษของเขายังทันเห็นบ้านแบบป้อมปราการที่ในตลาดน้อยด้วย"

 

 

การประดับประดาอาคารด้วยเครื่องกระเบื้อง ไม้แกะสลัก ประติมากรรม และภาพจิตรกรรม

แม้จะชำรุดทรุดโทรมไปบ้าง แต่ยังคงความงามปรากฏให้เห็นในหลายมุมของตัวศาลเจ้า 

 

ปัจจุบันศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุงหรือศาลเจ้าโรงเกือกกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการบูรณะศาลเจ้า โดยมีผู้ร่วมมือดำเนินการอนุรักษ์หลายองค์กร ประกอบด้วยสมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย ผู้ดูแลศาลเจ้าแห่งนี้ วิทยาลัย เทคนิคดุสิต และโครงการย่านจีนถิ่นบางกอก

 

ลวดลายแกะสลัก และภาพทวารบาลแบบจีนที่บานประตู

 


สุดารา สุจฉายา

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ