ฤๅษีดัดตน
คลังบทความ

ฤๅษีดัดตน

 

ท่าฤๅษีดัดตน ที่คนไทยคุ้นเคยนั้น ที่จริงแล้วเรียก อาสนะ หมายถึง ท่าในโยคะ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากโยคี โดยโยคีในอินเดียจะทำท่าโยคะเมื่อเกิดอาการปวดเมื่อยหลังการนั่งสมาธิ ต่อมาภายหลังโยคะแพร่หลายสู่ภายนอกและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งนี้เพราะโยคะไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยเท่านั้น แต่ยังสามารถรักษาผู้ฝึกโยคะให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ด้วย

 

รูปฤๅษีดัดตนที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร  กรุงเทพฯ

(ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ในเมืองไทย ตำราฤๅษีดัดตนปรากฏเป็นรูปหล่อด้วยดีบุกและสังกะสีตั้งอยู่ที่ศาลารายใกล้พระอุโบสถในวัดโพธิ์และยังปรากฏใน โคลงฤๅษีดัดตน ในจารึกวัดโพธิ์ รวม 80 ท่า นอกจากนั้นยังปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ วัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา วาดลงบนคอสองด้านในศาลาโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 ฉากหลังของภาพฤๅษีวาดเป็นรูปทิวทัศน์สื่อถึงการบำเพ็ญเพียร ใต้ภาพมีโครงสี่สุภาพเขียนบรรยายสรรพคุณท่าทางและการแก้โรคกำกับไว้ รวม 40 ท่า

 

ศาลาโถง วัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

(ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปฤๅษีดัดตน ภายในศาลาโถง วัดมัชฌิมาวาส

(ภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

รับชมภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปฤๅษีดัดตนที่วาดไว้ในศาลาโถงของวัดมัชฌิมาวาสได้ในบทความเรื่อง “ฤๅษีดัดตน” โดย อริยา จิระตราชู ตีพิมพ์ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 4 ฉบับที่ 3 (เมษายน – มิถุนายน 2521) หน้า 6-12 ใน “10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ” คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67660241/-4-3

               


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น