“บ้านเครื่องปั้นคลองสระบัว” เรื่องเล่าจากความทรงจำ

“บ้านเครื่องปั้นคลองสระบัว” เรื่องเล่าจากความทรงจำ

 

บ้านเครื่องปั้นดินเผาคลองสระบัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบ้านช่างปั้นเก่าแก่มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เลื่องลือว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นชั้นดีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหม้อดินหลายขนาด รวมถึงกระเบื้องดินเผาแบบโบราณ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การผลิตเครื่องปั้นดินเผาค่อยๆ ลดลง จนแทบจะหายสิ้นไปจากพื้นที่ หากแต่วันนี้ โรงเรียนวัดกลางคลองสระบัวได้พยายามรื้อฟื้นความรู้ด้วยการทำชุดข้อมูลและการสาธิตผลิตเครื่องปั้นดินเผาสำหรับไว้สอนให้กับนักเรียนและผู้ที่สนใจมาศึกษา

 

ในอดีตปากคลองสระบัวเป็นจุดที่เรือมอญมารับซื้อเครื่องปั้นดินเผาไปขายต่อ 

 

ห้องเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเครื่องปั้นดินเผาโรงเรียนวัดกลางคลองสระบัว 

 

พี่ยอ หรือนงนุช  เจริญพร ชาวคลองสระบัว ในวัย 57 ปี ผู้เป็นวิทยากรสาธิตการทำเครื่องปั้นดินเผาของโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับการทำเครื่องปั้นมาแต่เยาว์วัย  ย้อนความหลังให้ฟังว่าในอดีตบริเวณคลองสระบัวเป็นแหล่งปั้นหม้อแหล่งใหญ่ของกรุงเก่า ด้วยพบร่องรอยของเศษกระเบื้องจำนวนมาก คาดว่าน่าจะเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ นอกจากนี้สมัยก่อนในแถบบ้านยังมีการกลึงสากไม้ตาลด้วย  และห่างไปไม่ไกลยังมีแหล่งผลิตกระทะดินเผาและเตาวงหรือเตาเชิงกรานด้วย อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้บ้านเครื่องปั้นที่กล่าวมาต่างปิดตัวกันเกือบหมด เหลือเพียงบางเจ้าที่ยังทำอยู่ เช่นบ้านของยายเต่า ซึ่งอยู่เหนือวัดกลางคลองสระบัวขึ้นไป ที่ยังทำกระเบื้องเป็นเจ้าสุดท้าย

 

คุณนงนุช เจริญพร หรือพี่ยอ ชาวคลองสระบัว ผู้คลุกคลีกับงานเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เด็ก 

 

ข้อมูลและขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผาถูกรวบรวมไว้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้กับนักเรียนและผู้สนใจ

 

พี่ยอเล่าว่าสมัยเป็นเด็กได้ยินเสียงตีหม้อดังหนาหูแต่เช้ามืด ก่อนไปโรงเรียนในวันธรรมดา เธอต้องลุกตื่นขึ้นมาเหยียบดิน ซึ่งเป็นขั้นตอนการนวดดินก่อนนำไปปั้นและนั่นก็หาใช่เรื่องสาหัสสำหรับเด็กๆ เลย กลับกลายเป็นเรื่องสนุกกว่าไปโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ ส่วนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เด็กๆ ในบ้านต้องมาช่วยครอบครัวหมุนแป้นปั้น หรือเรียกว่า “ชักช่อ” เพราะในสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้ามาปั่นมอเตอร์ให้หมุนเหมือนสมัยหลัง การชักช่อและเหยียบดินจึงเป็นงานง่ายที่เด็กๆ สามารถช่วยแบ่งเบาการทำงานบางขั้นตอนของการผลิตเครื่องปั้น โดยมีพวกผู้ใหญ่คอยรับภาระงานฝีมืออย่างอื่นๆ เช่น ไปขุดหาดิน หาไม้มาทำเชื้อไฟ และเป็นผู้ลงมือปั้น

 

“ช่อ” หรือแท่นหมุนไว้สำหรับขึ้นรูปหม้อ

 

ช่วงฤดูแล้งพื้นดินหมาดไม่ชื้นแฉะแบบหน้าน้ำ ชาวบ้านเหนือและบ้านใต้ริมคลองสระบัวต่างพากันไปทุ่งนาเพื่อหาดิน 2 ชนิด คือ ดินสีดอกมะขามที่เป็นดินมีสีแดง สีดำ และเหลืองแซม โดยนำไปใช้ในการปั้น และดินขุยปู ซึ่งเกิดจากการที่ปูขุดรูแล้วโกยขึ้นมาเป็นขุยดิน ดินชนิดนี้มีสีเหลือง สามารถนำไปทาหม้อก่อนเอาเข้าเตาเผา ทำให้เมื่อเผาเสร็จแล้วนำมาขัด จะได้ความมันวาวสวยงาม

 

"ไม้ลาย" ใช้สำหรับตีหม้อให้เป็นทรง

 

สำหรับการผลิตหม้อดินคลองสระบัวนั้นมีขั้นตอนและรายละเอียดที่น่าสนใจ เริ่มจากการนำดินปั้นหม้อที่ได้มาปั้นเป็นลูกแล้วทุบให้แน่น จากนั้นจึงนำมาย่ำสัก 2-3 ชั่วโมง ถือเป็นการนวดดินให้อ่อนตัว แล้วนำมาปั้นเป็นหม้อ โดยขึ้นรูปด้วยแท่นหมุนหรือช่อ แล้วค่อยใช้หินทรงกลมแป้นดุนด้านใน ใช้ไม้ลายตีด้านนอกให้ได้ทรง ก่อนนำไปผึ่งแดดจนแห้ง หลังจากนั้นจึงนำเอาดินขุยปูผสมกับน้ำทาให้ทั่ว แล้วผึ่งแดดให้เสมอกันทั่วทั้งใบ รอการเข้าเตาในขั้นตอนต่อไป

 

“หินดุน” มีลักษณะกลมมน ใช้สำหรับดุนหม้อด้านใน

 

“หินขัด” ทำจากหินกรวดมนเช่นเดียวกัน

 

ด้วยหม้อดินนั้นมีหลายขนาด ตั้งแต่ใบเล็กไปถึงใหญ่ ได้แก่ หม้อกระจอก หม้อกลาง และหม้อต้นที่มีขนาดใหญ่สุด การนำเข้าเตาเผาซึ่งเป็นเตายืนทรงเหลี่ยมมีประกูบไว้สุมไฟด้านหน้า จะต้องนำหม้อขนาดใหญ่สุดไว้ด้านล่าง วางในลักษณะเรียงต่อกันเป็นเถาตามแนวนอน แล้วค่อยนำเอาหม้อขนาดลดหลั่นกันวางเทินขึ้นข้างบน

 

การเลือกไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงก็ต้องพิถีพิถัน ฟืนที่ใช้จะต้องสด นิยมใช้ไม้ก้ามปู ไม้กระถิน หรือไม้ข่อยก็สามารถใช้ได้ แต่ต้องตัดรอทิ้งให้หมดยางเสียก่อน มิฉะนั้นจะทำให้หม้อเปื้อนยางเป็นตำหนิ ส่วนไม้ที่ไม่สามารถใช้ได้ก็มี เช่น ไม้สะแก เพราะเมื่อเผาแล้วจะกลายเป็นถ่าน ทำให้หม้อบิดเบี้ยวผิดรูปได้ ไม้ขี้เหล็กก็ไม่ใช้เช่นกัน เพราะจะทำให้หม้อเป็นริ้ว สีไม่สวย การใส่ฟืนเข้าเตานั้น จะวางฟืนระหว่างหม้อแต่ละเถา หากเป็นเถาใบใหญ่ต้องใช้ฟืนขนาดใหญ่ ส่วนเถาใบเล็กใช้ฟืนขนาดเล็ก จากนั้นใส่ฟืนไว้ที่ประกูบ โดยค่อยๆ ใส่ทีละน้อยเพื่อให้ความร้อนค่อยๆ เพิ่มขึ้น เรียกว่า “ย่างไฟ” ซึ่งจะทำให้ฟืนด้านในค่อยๆ แห้งและติดไฟ

 

หม้อดินเผาแบบมีลายไม่ต้องขัด เป็นรูปแบบที่นิยมทำกันที่นี่ 

คล้ายคลึงกับเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านแป้ง สิงห์บุรี ซึ่งเป็นเครือญาติกัน

 

ระยะเวลาการเผาแต่ละเตาใช้เวลาประมาณ 1 วัน จึงจะสามารถนำภาชนะดินเผาออกมาจากเตาได้ ภาชนะดินเผาที่นำออกมาแล้วจะใช้หินแม่น้ำที่มีลักษณะเรียบมนมาขัดจนเกิดความมันวาวพร้อมนำออกจำหน่าย ในอดีตชาวคลองสระบัวจะนำไปวางรอท่าขายที่ปากคลองสระบัว โดยจะมีเรือมอญมารับซื้อไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคถนน จะมีรถบรรทุกมารับซื้อ การทำและค้าขายเครื่องปั้นดินเผาที่คลองสระบัวเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องมายาวนาน จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ วิถีการปั้นหม้อค่อยๆ จางหายไป อาจด้วยสาเหตุของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปและความนิยมที่ลดน้อยลง จนไม่สามารถเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้

 

อย่างไรก็ดี องค์ความรู้เรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผาที่คลองสระบัวนี้ ถือว่ามีความสำคัญเพราะสามารถบอกเล่าถึงรากเหง้าของชาวอยุธยา ที่มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในแถบตอนเหนือของเกาะเมืองมาตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาและสืบเนื่องต่อมาหลายร้อยปี ทั้งยังเห็นถึงความสัมพันธ์กับแหล่งช่างปั้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายถิ่นของช่างฝีมือ ตลอดจนการเสาะหาวัตถุดิบหรือแหล่งดินในที่ต่างๆ เช่น บ้านแป้ง จังหวัดสิงห์บุรี บ้านบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น ซึ่งต่างก็เป็นชุมชนเครื่องปั้นดินเผาที่สัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรทำการศึกษาต่อไป

 

ขอขอบคุณ : คุณนงนุช เจริญพร อาจารย์สายันต์ ขันธนิยม อาจารย์สุกัญญา บ่อสุวรรณ และคุณสุรเจตน์ เนื่องอัมพร

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ