จีนบางแก้ว

จีนบางแก้ว

 

สืบหาตัวตน “จีนบางแก้ว” กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง กลุ่มคนจีนผู้มีบทบาทต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการบุกเบิกที่ทำนา สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชน ไปจนถึงวางผังเมืองที่บางแก้ว ก่อนจะขยับขยายมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองพัทลุงในสมัยต่อมา หลักฐานที่แสดงถึงประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนที่อำเภอบางแก้ว ที่น่าสนใจคือ "ผังเมืองตลาดบางแก้ว" และ "ศาลเจ้าเทพเกษตร" 

 

"ตลาดบางแก้ว" เดิมเป็นที่ดินของบริษัทปากพล ก่อนจะเปลี่ยนมือเป็นของตระกูลล่ำซำ ปัจจุบันมีผู้มาเช่าต่อ

 

ผังเมืองตลาดบางแก้ว

ภายหลังจากที่คนจีนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานแถบบางแก้ว จังหวัดพัทลุง มากขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่บริเวณนี้ และความสำเร็จรุ่งเรืองของบริษัท ปากพล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของกลุ่มคนจีนที่ดำเนินกิจการค้าข้าว โรงสี และพืชผลการเกษตรอื่น ๆ นำมาสู่การจัดวางผังเมืองบางแก้วขึ้นในปี พ.ศ. 2479 

 

สำเนาผังเมืองตลาดบางแก้ว 

 

ภายในผังเมือง มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ อย่างเป็นระบบ มีถนนสายใหญ่และซอยเชื่อม มีที่ดินสำหรับปลูกบ้าน แต่ละห้องกว้าง 18 ฟุต ยาว 90 ฟุต นอกจากนี้ในแผนผังได้กำหนดสถานที่ต่างๆ ภายในเมืองไว้อย่างชัดเจน เช่น ตลาด ร้านค้า โรงสีไฟ โรงแป้งมัน ที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ สถานีอนามัย โรงเรียน สถานีตำรวจ นาข้าว และแปลงผัก ด้วยการจัดวางผังเมืองในลักษณะดังกล่าวนี้ ทำให้บางแก้วถูกเรียกว่าเป็น “เมืองคนจีน” ในสายตาคนท้องถิ่นขณะนั้น ปัจจุบัน ผังเมืองบางแก้วฉบับจริงไม่ทราบว่าเก็บอยู่กับผู้ใด พบเพียงสำเนาผังเมืองที่เขียนขึ้นด้วยภาษาจีนเท่านั้น

 

“ศาลเจ้าเทพเกษตร” 

ร่องรอยวิถีเกษตรกรรมของจีนบางแก้วยุคแรก

ลูกหลานชาวจีนบางแก้ว เล่าว่า ชาวจีนกลุ่มแรก ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณควนโหมด นาปะขอ ปากพล และทุ่งค่าย หรือทุ่งเศรษฐี เป็นทุ่งกว้างมีดินอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำนาและเพาะปลูกพืชผล จึงดำเนินเรื่องขอเช่าที่ดินราว 10,000 ไร่จากรัฐบาลสยามในเวลานั้น ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 และทำการจัดสรรที่ดินเป็นแปลง ๆ ละ 100 ไร่ ว่ากันว่ามีที่ดินกว้างขวางตั้งแต่ริมทะเลเข้าไปถึงตัวเมืองบางแก้ว จนได้รับการเรียกขานจากคนในท้องถิ่นว่า “นาจีน”

 

อาคารที่ตั้งบริษัทปากพลที่บ้านควนโหมด ซึ่งขณะถ่ายภาพนี้ได้เลิกบริษัทไปแล้ว และขายให้คนอื่นอยู่อาศัยแทน ก่อนจะรื้อทิ้งไปเมื่อ 2-3 ปีมานี้

 

นอกจากจัดสรรที่ดินทำนาแล้ว ในระยะแรก กลุ่มชาวจีนที่ลงทุนเช่าที่ทำนา 200 ไร่ แถบควนโหมด ได้ร่วมกันสร้าง “ศาลเจ้าเทพเกษตร” ขึ้นด้วย ภายในศาลมี “เทพเจ้าเสนหนุง” เทพเจ้าแห่งเกษตรกรรมเป็นเทพประธาน ต่อมาเมื่อทางการไม่อนุญาตให้คนจีนทำนา พวกชาวนาจึงพากันย้ายไปอยู่ที่ตลาด ส่วนศาลเดิมก็ถูกทิ้งร้างลงไป ก่อนจะมีการระดมทุนสร้างศาลใหม่บนที่ตั้งของโรงเรียนจีนเดิมที่อยู่ใกล้ตลาดบางแก้ว ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนบางแก้วสืบมาถึงปัจจุบัน

 

 

ติดตามเรื่องราวของ “จีนบางแก้ว” ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่ถูกร้อยเรียงขึ้นจากการค้นคว้าสืบหาหลักฐานร่วมกับคำบอกเล่าจากความทรงจำของคนบางแก้ว ได้ในบทความเรื่อง “จีนบางแก้ว ฟันเฟืองเศรษฐกิจในตัวเมืองพัทลุง” โดย สุดารา สุจฉายา ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับ 44.3 (กรกฎาคม-กันยายน 2561) “ไชยบุรี : ปราการที่แข็งแกร่งของพัทลุง”

 

 

ดูสารบัญ คลิก https://&host/bookpost/41

ติดต่อสั่งซื้อ-สมาชิก คลิก https://&host/สมัครสมาชิก 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น